จี้รัฐออกมาตรการรักษา“บริโภค-ส่งออก”

22 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

เอกชนชี้ “การบริโภค-ส่งออก” ดันจีดีพีปี64 จี้รัฐ ออกมาตรการเร่งด่วน รักษาระดับการบริโภค จ้างงาน ลุ้นธปท.ดูแลเงินบาท หนุนส่งออกที่กำลังฟื้นตัว อย่าให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัวแรง 

ในที่สุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวตํ่าสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แม้ภาพรวมไตรมาสสุดท้ายของปี จะขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ก็หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2563 จีดีพีติดลบ 6.1%จากประมาณการเดิมที่ 6.0% ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบอย่างหนักจากโควิด-19

สำหรับแนวโน้มปี 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า สศช.ได้ปรับสมมติฐานประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เหลือเติบโต 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4.5% และค่ากลางอยู่ที่ 4% เพราะการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แม้จะควบคุมได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในไตรมาส 1 ปี 2564

“ปี2564 จำเป็นต้องอาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากกระตุ้นการใช้จ่ายแล้วยังจำเป็นต้องนำเงินลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น ซึ่งการรักษาบรรยากาศทางการเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ”

ภาพรวมเศรษฐกิจ 2564

ขณะเดียวกัน ภาคบริการที่ยังมีปัญหาต้องมีการกระจายวัคซีนให้กับภาคบริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนมาตรการแรงงาน ที่ต้องเยียวยาในช่วงการระบาดของโควิดรอบใหม่ ช่วยลดปัญหาค่าครองชีพในช่วงต้น แต่ระยะถัดไป ต้องมีโครงการรักษาระดับการจ้างงานซึ่ง ทั้งสศช. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกัน 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics ทีเอ็มบีกล่าวว่า ปีนี้ 2 เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้คือ การบริโภคเอกชนที่ปีนี้น่าจะโต 1.6% และการส่งออกจะกลับมาโต 3.5% ซึ่งพลิกจากปีก่อนที่หดตัว 7%  ขณะที่การบริโภคเอกชนที่โต 0.9% ในไตรมาส 4 ปี 63 ได้อานิสงค์จากมาตรการภาครัฐ 

ดังนั้นมาตรการกระตุ้นที่สร้างดีมานด์ให้ประเทศจะต้องมีต่อ แต่ไม่ใช่เป็นการให้เงินโดยตรง ต้องมีนมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน เพื่อให้มีรายได้มาบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีสัดส่วนการจ้างงาน 7.8 ล้านคน ภาคการผลิต 1.6 ล้านคน ภาคการค้า 2.7 ล้านคน และภาคบริการ 3.5 ล้านคน ซึ่งหลายประเทศทำมาตรการจ้างงาน เช่น เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีผู้ว่างงานกว่า 7 แสนคน แต่ยังมีผู้ที่มีความเสี่ยงจะว่างงานจากการถูกลดชั่วโมงการทำงาน รายได้ลดลงประมาณ 1.8 ล้านคน ถ้ามีมาตรการดูแลกลุ่มนี้น่าจะเป็นเรื่องดีซึ่งควรจะเป็นมาตรการเร่งด่วน

“มาตรการเร่งด่วนคือ ต้องรักษาระดับการจ้างงานกับบริษัทหรือกลุ่มที่สามารถรักษาเพดานการจ้างงานมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะตอนนี้ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว ดังนั้นปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นประเด็นสำคัญ”  

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจหลักมี 3 ประเด็นคือ 1.การระบาดของโควิดรอบใหม่ ถ้าควบคุมได้ในไตรมาส1 จะช่วยให้คนกลับมาใช้จ่ายได้ดีขึ้น หรือเดินทางในไตรมาส 2 ที่สำคัญต้องเร่งดูแลไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงเกินไป ไม่เช่นนั้นจะกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 2.วัคซีนยังได้มาช้า ส่วนการกระจายให้ได้ 50% ของประชากรในปลายปีนี้ จะทำได้แค่ไหน เพราะต่อให้ต่างชาติได้รับฉีดวัคซีน อาจไม่เข้ามาก็ได้ แต่ตราบใดที่คนในประเทศยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ และ 3.การเมือง หากยังมีความวุ่นวายต่อเนื่อง มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งทำให้คนระมัดระวังใช้จ่ายและการลงทุนโดยรอจังหวะ(Wait & See) 

สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่า 0.27% (เทียบ 29.86 บาทต่อดอลลาร์กับเมื่อต้นปีที่ 29.95 บาทต่อดอลลาร์) แต่หากย้อนไป 1 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าแล้ว 4.3% แต่ก่อนหน้านั้นภาคส่งออกยังไม่ค่อยขยายตัว แต่ตอนนี้จำเป็นต้องดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ภาคส่งออกเติบโตได้ต่อเนื่อง

สอดคล้องนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า รัฐควรจะมีมาตรการดูแลบริษัทบางรายที่เริ่มไต่ระดับฟื้นตัว เพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งการจ้างงาน เพิ่มกำลังการผลิตและลงทุนซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพราะมองไปข้างหน้ายังมีความเสี่ยงอีกมาก ถ้าขาดมาตรการทางการเงินและการคลังอาจจะฉุดรั้งการฟื้นไข้ เพราะอย่าลืมว่ายังมีบริษัทที่อยู่ก้นเหว และภาคบริการที่ยังอ่อนแออยู่ 

“โอกาสเดียวที่สนับสนุนคือ ภาคส่งออกไทย เพราะในประเทศค่อนข้างอ่อนแอ แค่ไม่ทำให้ทรุดก็พอแล้ว แต่ภาคส่งออก สศช.มองขยายตัว 5.8% เพราะเศรษฐกิจโลกเติบโต จึงต้องหาจังหวะเร่งการส่งออกได้มากกว่านี้ นโยบายการเงินจะผ่อนคลายเพิ่มเติม หรือจะช่วยเงินบาทอ่อนค่าได้” 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654