ล็อกดาวน์ชลบุรี   ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง  ครึ่งปีแรกซบ

27 ก.พ. 2564 | 11:00 น.

ล็อกดาวน์ชลบุรี   ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง  ครึ่งปีแรกซบ

 

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP) ผู้ผลิตคอนกรีต และบล็อกคอนกรีตสำเร็จรูป Precast เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจปี 2564 ครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ปิดเมืองชลบุรี ส่งผลให้งานชะลอหรือต้องเลื่อนส่งมอบงาน คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าครึ่งปีแรก จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตปรับตัวดีขึ้น 

อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจงานโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน โครงการปรับปรุงทางหลวง โครงการถนนสายรองในพื้นที่อู่ตะเภา มาบตาพุด ชลบุรี  โครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบัง และ ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3  อีกทั้ง ยังมีโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานถนน อาคารสำนักงาน ขณะที่นโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่ 

แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนการผลิต-การขาย ลดค่าใช้จ่ายพร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mix) เนื่องจากเทรนด์การก่อสร้างในปัจจุบันใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ต้องปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะให้บริการในลักษณะ Mobile Plant โดยจัดตั้งแพลนท์ปูนชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้  ให้บริการเช่ารถขนส่ง ขายคอนกรีต รวมทั้งให้บริการตรวจสอบคุณภาพผงปูน

ด้านสินค้า Precast ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปกพิเศษ ออกสินค้านวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง รองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ งานถนน งานสะพาน งานเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ขยายฐานลูกค้าไม่จำกัดเฉพาะภาคตะวันออก มุ่งเน้นเข้าประมูลงานทั่วประเทศ

สำหรับเป้าหมายการเติบโตปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ประมาณ 2,600 ล้านบาท หากการแพร่ระบาดโควิด-19 จบอย่างรวดเร็วในครึ่งปีแรก และสัดส่วนรายได้มาจากงานภาครัฐ 80% และภาคเอกชน 20%

ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ประมาณ 1,800 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง โดยบริษัทจะทยอยประมูลงานเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือ (Backlog) ไว้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทยังคงเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564