หมอธีระชี้ใช้อำนาจทำนโยบายไม่ถูกต้องเสี่ยงโควิด-19 ระบาดซ้ำ-เสียชีวิตมาก

17 ก.พ. 2564 | 01:30 น.

หมอธีระชี้ใช้อำนาจกำหนดนโยบายไม่ถูกต้องเหมาะสมเสี่ยงโควิด-19ระบาดซ้ำ รุนแรงมาก เสียชีวิตมากได้

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 64 เวลา 07.33 น.โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 17 กุมภาพันธ์ 2564...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 358,338 คน รวมแล้วตอนนี้ 109,980,583 คน ตายเพิ่มอีก 9,998 คน ยอดตายรวม 2,427,061 คน

              อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 67,961 คน รวม 28,366,957 คน ตายเพิ่มอีก 1,647 คน ยอดตายรวม 499,515 คน

              อินเดีย ติดเพิ่ม 11,898 คน รวม 10,937,106 คน ลักษณะกราฟการระบาดของอินเดียดูเหมือนการระบาดจะลดลงจริง แต่การลดลงนั้นสร้างความประหลาดใจให้กับคนจำนวนไม่น้อยว่าเกิดจากเหตุใดกันแน่ กำลังมีคนศึกษาอยู่

              บราซิล ติดเพิ่ม 63,612 คน รวม 9,921,981 คน อีกสองสามวันจะทะลุสิบล้าน

              รัสเซีย ติดเพิ่ม 13,233 คน รวม 4,099,323 คน

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 10,625 คน รวม 4,058,468 คน

              อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

              แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

              แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

              เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไทย เวียดนามติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

              หากเราติดตามและทบทวนบทเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะพบสัจธรรมว่า

หนึ่ง "การตัดสินใจเชิงนโยบายนั้นสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อชีวิตของทุกคนในสังคม"

              การตัดสินใจนโยบายที่ถูกทิศถูกทาง คนก็รอดปลอดภัย แต่หากใช้อำนาจไปกำหนดทิศทางนโยบายที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม การระบาดก็เกิดซ้ำ รุนแรงมาก ติดเชื้อมาก เสียชีวิตมากได้

              ไม่ใช่ผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนในสังคมเท่านั้น คนหน้างานหรือด่านหน้าก็ต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงมากขึ้น นานขึ้น อันเป็นผลจากการระบาดที่หนักหน่วงและยาวนาน

              หลายประเทศโชว์ให้เห็นแล้วว่าถึงผลการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันแล้วเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

สอง "การจัดหาอาวุธที่ใช้ในการป้องกันโรคระบาดนั้นเป็นการวัดความสามารถและทัศนคติของกลไกการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ"

              สถานการณ์ รวมถึงสถิติและข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโรค เป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ชี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวของแต่ละประเทศ ทั้งในเรื่องการเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การตัดสินใจเลือกชนิดของวัคซีน ปริมาณที่จัดซื้อจัดหา สรรพคุณและความปลอดภัย และอื่นๆ

              ยังไม่นับเรื่องความช้าหรือเร็วที่ประชาชนในแต่ละประเทศจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

              ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น ประชาชนทุกคนควรที่จะสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทักท้วง สอบถาม และที่สำคัญยิ่งคือ ประชาชนควรที่จะต้องสามารถดูแลตนเอง ตัดสินใจเลือกได้เองว่าจะรับหรือไม่รับสิ่งที่ได้รับการจัดหามาให้ โดยมีทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้ ไม่ถูกปิดกั้น ทั้งนี้เพราะความถูกต้องเหมาะสมของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน

              ทั้งที่จริงแล้ว เราต้องยอมรับว่า ความถูกต้องเหมาะสมเรื่องการรับวัคซีนในที่นี้เป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละคนในการตัดสินใจบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและรอบด้าน

ประเด็นต่างๆ ข้างต้นคือ บทเรียนที่เราเห็นและเรียนรู้ได้จากทั่วโลก

              หันมามองไทยเรา...

              สถานการณ์ระบาดซ้ำครั้งนี้ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

              ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดนะครับ

              ด้วยรักและปรารถนาดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนตัวไหนก็เอา "โควิดพันธุ์ดุ" ไม่อยู่ ระบุเชื้อแอฟริกาใต้แรงมาก

หมอธีระวัฒน์ชี้ทั่วโลกจับตาผลวัคซีนไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทคในอิสราเอล

คณะแพทย์ศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิตแจงกรณีนักศึกษาติดโควิด-19 พบเสี่ยงสูง 20 ราย

เปิดไทม์ไลน์ นศ.แพทย์มธ.ติดโควิด พบเดินห้างย่านรังสิต

สธ.เตือนวัยทำงาน ส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ แพร่เชื้อง่ายในวงกินข้าวร่วมกัน