บีบ “เลิกจ้าง” แลกรับเงินชดเชยประกันสังคม

16 ก.พ. 2564 | 07:50 น.

"พนักงาน-จนท." จนตรอก บีบ "ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มฯ" เลิกจ้าง หวัง รับเงินชดเชย “ประกันสังคม” จากการว่างงาน เจรจายังไม่ยุติ 18 ก.พ. นัดแรงงานจังหวัด หาทางออก

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แหล่งข่าวสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้มีเรียกประชุมผู้จัดการ รองผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่าย สาระการประชุมเบื้องต้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พนักงาน จึงปรึกษา "ประกันสังคม" และ "แรงงานจังหวัด" ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

 

1. ชุมนุมสหกรณ์ฯ สามารถทำข้อตกลงเลิกจ้างพนักงานได้ เพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิ์ว่างงานจากประกันสังคม โดยปัจจุบันจะได้รับสิทธิ์กรณีว่างงานจากการเลิกจ้างที่ 70% ของฐานค่าจ้าง 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 200 วัน เลิกจ้างเฉพาะส่วนงานที่หยุดงาน

 

2. เงินเดือนคงค้าง ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เจรจากับพนักงานและกำหนดเป็นระยะเวลาที่แน่นอนในการจ่ายเงินเดือนคงค้าง และให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อรับทราบ

 

3. ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง / บำเหน็จ  หากพนักงานไม่ต้องการทำงานกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ต่อไปแล้ว ชุมนุมสหกรณ์ฯต้องกำหนดวันจ่ายค่าชดเชย/บำเหน็จให้ชัดเจนและให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบและยินยอมหรือ กรณีพนักงานยังคงต้องการทำงานกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ต่อไป  ด้วยการเลิกจ้างในที่นี่เป็นการเลิกจ้างเพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิ์ชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อชุมนุมสหกรณ์ฯ กลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ตามปกติ

 

ชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องรับลูกจ้างกลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิมพร้อมสวัสดิการและสภาพการจ้างเดิม และทำหนังสือให้พนักงานลงชื่อรับทราบและยินยอม ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ จะจ่ายส่วนต่างจากสิทธิที่พนักงานได้รับจากประกันสังคมให้ครบ 75% ตามที่สัญญากับพนักงาน ตัวอย่างเช่น  พนักงานเงินเดือน 10,000 บาท ได้รับสิทธิ์จากประกันสังคม 7,000 บาท ชุมนุมสหกรณ์ฯ จะตั้งค้างจ่ายให้อีก 500 บาท เพื่อให้ครบ 7,500 บาท ตามสัญญา

 

เสนอเลิกจ้าง

 

กรณี พนักงานเงินเดือน 20,000 บาท ได้รับสิทธิ์จากประกันสังคม 10,500 บาท ชุมนุมสหกรณ์ฯ จะตั้งค้างจ่ายให้อีก 4,500 บาท เพื่อให้ครบ 15,000 บาท ตามสัญญา ส่วนการนับอายุงาน   หากพนักงานยินดีที่จะทำงานกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ต่อไป ชุมนุมสหกรณ์ฯ ควรนับอายุงานต่อเนื่องให้พนักงานเพื่อให้สิทธิ์แห่งการรับบำเหน็จยังต่อเนื่อง ที่สำคัญชุมนุมสหกรณ์ฯ ควรจัดประชุมหัวหน้างานเพื่อให้หัวหน้างานได้รับทราบสถานการณ์และความจำเป็นของชุมนุม

 

แหล่งข่าวฝ่ายบุคคล กล่าวอีกว่า วิธีการที่เสนอนี้ก็อาจจะไม่ถูกใจใครทั้งหมด  แต่ทางเลือกของเรามีไม่มาก บีบคอดึงไส้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ก็ไม่มีเงินจ่ายพนักงานอยู่ดี ทางที่ดีเราควรหาทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พนักงาน และเพื่อให้โอกาสองค์กรได้มีเวลาหายใจเพื่อจะหาทางออกในครั้งนี้

 

 “ในฐานะบุคคลรับทราบทั้งความเดือดร้อนทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และถ้าลูกจ้างคนใดไม่ยินยอมก็ต้องมีการคุยกันเป็นรายกรณี ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ประชุม ที่แรงงานจังหวัด เพ่อหาแนวทางเลิกจ้างตามกฎหมาย และวันที่ 19 กุมภาพันธ์และนัดชี้แจงพนักงานอย่างเป็นทางการ”