“เป็ดแดงตาย” ไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า2,4-D

16 ก.พ. 2564 | 05:20 น.

“จรรยา” ถอดยา “ฆ่าหญ้า2,4-D” ออกจากแพะ ฆ่า "เป็ดแดงตาย" แฉหลักฐาน “ไดอะซินอน” สารฆ่าแมลง ฆาตรกรตัวจริง "กรมวิชาการเกษตร" ยกเลิกการขึ้นทะเบียนใช้ในนาข้าว ตั้งแต่ปี58 เพราะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ระบาดเพิ่มขึ้น

ดร.จรรยา มณีโชติ

 

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  จากกรณีนกเป็ดแดงตายจำนวนมากในแปลงนาข้าว บริเวณหลังหมู่บ้านคันทรีวิว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่มีหลายคนคาดเดาเองว่า เกิดจาก "ยาฆ่าหญ้า" ในเรื่องนี้  สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย อยากเรียกร้อง ให้พิจารณา ข้อมูล หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้รอบด้านก่อน

 

ขอลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้  ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่า พบ นกเป็ดแดงเกือบร้อยตัว ตายอยู่ในนาข้าว หลังหมู่บ้านคันทรีวิว ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  สภาพนาเป็นระยะหลังหว่านข้าวประมาณ  3 วัน หน้าดินเริ่มแห้งและยังมีน้ำขังในนาเป็นหย่อม เกษตรกรเล่าว่า ได้เช่าพื้นที่แห่งนี้ทำนามา 5 ปี แล้ว ที่ผ่านมา พ่นยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืชในนา แต่ชาวบ้านร้องเรียนว่ามีกลิ่นเหม็น ปีนี้จึงเปลี่ยนมาใช้ยาคุมเลนชนิดหนึ่ง มาใช้หว่านแทนยาพ่น

 

“ยาฆ่าหญ้าที่มีกลิ่นเหม็น ที่เกษตรกรเคยใช้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา คือ 2,4-ดี ใช้พ่นหลังหว่านข้าว ประมาณ 15-20 วัน เพื่อกำจัดวัชพืชใบกว้าง และ กก ส่วน "ยาคุมเลน" ที่เกษตรกรใช้  ทางสารวัตรเกษตรลำปาง ให้ข้อมูลว่า ได้สอบถามร้านจำหน่ายสารเคมีที่เกษตรกรายนี้ไปซื้อมาใช้คือ บิวตาคลอร์ + 2,4-ดี นำมาหว่านในนาข้าวประมาณ 3 วันก่อนได้รับแจ้งว่ามีนกเป็ดแดงตายในนา”

 

ต่อมา มีการให้สัมภาษณ์ของสัตวแพทย์ท่านหนึ่ง ว่า สาเหตุการตายของนกเป็ดแดง อาจเกิดจากเกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้า ในเนื้อข่าวมีภาพประกอบเป็นขวดยาฆ่าหญ้ายี่ห้อ "ดาราเอมีน"ซึ่งมีชื่อสามัญ คือ 2,4-D dimetylammonium ซึ่งในฉลากระบุว่า ใช้ที่ระยะ 20 วันหลังหว่าน ข่าวนี้ทำให้ประชาชนทั่วไป เข้าใจผิดและเชื่อว่านกเป็ดแดงตาย เพราะยาฆ่าหญ้า 

 

ดร.จรรยา กล่าวว่า แต่ข้อมูล 2,4-D dimethylammonium คือ  เป็น "ยาฆ่า" ไม่ใช่"ยาคุม"  สารนี้มีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว ตรงตามที่ข่าวนำเสนอว่าเพื่อนบ้านร้องเรียนว่ามีกลิ่นเหม็น ดังนั้น ในฤดูนี้ เกษตรกรรายนี้จึงไม่ได้ใช้สารดังกล่าว แต่เปลี่ยนไปใช้ ยาคุมเลน บิวตาคลอร์ +2,4-D แทน  

 

 

 

ต่อมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 จังหวัดลำปาง พบสารเคมีต้องสงสัย 2 ชนิด คือ ดาราเอมีน ( ยาฆ่าหญ้า 2,4-D)  และ วินซินอน (ยาฆ่าแมลง diazinon) เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน น้ำ และ ต้นข้าว ส่งตรวจวิเคราะห์ผลตกค้าง ที่ห้องปฏิบัติการ สวพ. 1 เชียงใหม่ และ ห้องปฏิบัติการ กองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่วนเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ลำปาง ได้เก็บซากนกเป็ดแดง ส่งไปวิเคราะห์หาสารตกค้าง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ภาคเหนือตอนบนจังหวัดลำปาง เพื่อพิสูจน์ว่า นกเป็ดแดงตายเพราะสารเคมีชนิดใด

 

จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า “ไดอะซินอน” (diazinon) เป็นสารฆ่าแมลงที่มีพิษรุนแรงกับสัตว์ปีก เช่น นก เป็ด กรมวิชาการเกษตรเคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนใช้เป็นยาฆ่าแมลงในนาข้าว แต่ต่อมา มีรายงานว่า ทำให้มีการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว กรมวิชาการเกษตรจึงไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในนาข้าว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558

 

ในสหรัฐอเมริกา EPA ยกเลิกการใช้ diazinon ตั้งแต่ ปี 2548 เพราะ พบว่าเป็นพิษมาก ต่อสัตว์ปีก  (คลิกอ่าน)

 

ส่วนยาฆ่าหญ้า 2,4-D  ข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่าเป็นพิษน้อย ต่อสัตว์ปีก (คลิกอ่าน)

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564  ผลการตรวจสารตกค้างของ สวพ 1 และ กปผ. กรมวิชาการเกษตร พบ “diazinon” ในเมล็ดข้าว ต้นข้าว และ น้ำในนาข้าว เป็นปริมาณที่สูงกว่า ค่า LD50 ของ diazinon ใน เป็ดหัวเขียว (mallard duck) คิดเป็น 285, 8.7 และ 1.2 เท่าตามลำดับ แต่ไม่พบ 2,4-D ในทุกตัวอย่าง (ค่า LOD หรือ Limit of Detection ของ 2,4-D = 0.01 มก./กก)

 

ก่อนจะเปรียบเทียบความเป็นพิษของสารจะขออธิบายความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

 

“ความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน” (Acute toxicity) หมายถึง ผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้น ภายหลังจากการได้รับสารเคมีทางปากหรือทางผิวหนัง เพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง  ซึ่งจะแสดงโดยใช้ค่า LD50 หรือ LC50

 

“LD50 (50% Lethal Dose) “  หมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่ให้สัตว์ทดลองเข้าไปทั้งหมดเพียงครั้งเดียว แล้วทำให้กลุ่มของสัตว์ทดลองตาย ร้อยละ 50 (ครึ่งหนึ่ง)  หน่วยเป็น มก./กก. (ppm)

 

“LC50 (50% lethal concentration)” หมายถึง ปริมาณของสารเคมีในน้ำที่เป็นเหตุให้กลุ่มของสัตว์ทดลองร้อยละ 50 (ครึ่งหนึ่ง) ตายลง หน่วยเป็น มก./ลิตร (ppm) นั่นหมายความว่า สารเคมีที่มีค่าLD50 หรือLC50 ยิ่งน้อย ก็ยิ่งมีความเป็นพิษมาก‼️ เพราะเมื่อได้รับสารเพียงเล็กน้อย

ก็สามารถทำให้ตายได้

 

“ค่า LC50 ของ diazinon” ในเป็ดมัลลาร์ด มีค่า = 1.44 มก./ลิตร (ppm) ในขณะที่ LC50 ของ 2,4-D มีค่า >5,620 มก./ลิตร (ppm) 

 

เมื่อน้ำในนาข้าว ไม่พบการปนเปื้อนของ 2,4-D แต่พบว่า มีdiazinon สูงถึง 1.76 มก./ลิตร (ppm) ก็ไม่แปลกที่นกเป็ดแดงที่ลงไปกินน้ำในนาดังกล่าวจะเสียชีวิตเกลื่อนทุ่งนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล็ดข้าวที่ตรวจพบ diazinon ตกค้างสูงมากถึง 410.52 มก./กก. (ppm)  จึงเป็นไปได้ว่าเกษตรกรได้นำเมล็ดข้าวไปแช่ในสาร diazinon ก่อนนำไปหว่าน  สารจึงซึมเข้าไปสะสมในเมล็ดข้าวเป็นปริมาณสูงมาก และเมื่อต้นข้าวงอก สารจึงเคลื่อนย้ายไปสะสมในต้นอ่อน เป็นปริมาณ 12.50 มก./กก.

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นสามารถยืนยันได้ว่า 2,4-D ไม่ใช่สาเหตุการตายของนกเป็ดแดง อย่าปล่อยให้ "ยาฆ่าหญ้า 2,4-D" กลายเป็น "แพะรับบาป" เหมือนกรณีที่ "พาราควอต" ถูกกล่าวหา ว่าเป็นสาเหตุทำให้คนป่วยเป็นโรคหนังเน่าในจังหวัดหนองบัวลำภู

 โดยฝ่ายที่กล่าวหาไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน อ้างแต่หลักฐานเขิงประจักษ์ ในขณะที่ ผลการตรวจวิเคราะห์ดินและน้ำที่หนองบัวลำภู  ไม่พบพาราควอตตกค้าง พบแต่เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน Aeromonas hydrophilla ที่เป็นสาเหตุแท้จริงของโรคหนังเน่า‼️ อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน เปิดเผยถึงสาเหตุเป็ดแดงตายเป็นจำนวนมากกลางทุ่งนาจำนวนกว่า 80 ตัว