"ชัช"วางบิล"บิ๊กตู่"ปรับครม. จับมือ4พรรคขู่"โนโหวต"

14 ก.พ. 2564 | 10:38 น.

ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย ส่งสัญญาณถึง"บิ๊กตู่" ถึงเวลาปรับครม.หลังทำงานมาปีกว่า จับมือ 4 พรรค 16 เสียง สงวนสิทธิขอฟังรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบไม่เคลียร์"ลำบากใจที่จะยกมือ"

ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย ส่งสัญญาณถึง"บิ๊กตู่" ถึงเวลาปรับครม.หลังทำงานมาปีกว่า จับมือ 4 พรรค 16 เสียง สงวนสิทธิขอฟังรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบไม่เคลียร์"ลำบากใจที่จะยกมือ" 

 

อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ที่โกลเม้าเท่นวังน้ำเขียว รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายชัชวาลล์ คงอุดม หรือ “ชัช เตาปูน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เดินทางไปเป็นประธาน เปิดการสัมมนาการอนุรักษ์กีฬาพื้นบ้านไก่ชน ของชมรมอนุรักษ์กีฬาพื้นบ้านไก่ชนอีสานใต้ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงาน ทั้งที่การจัดชนไก่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทางการยังคุมเข้ม เพราะมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19       
    

แม้งานนี้จะจัดโดยเครือข่ายซุ้มไก่ชน 5 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ แต่ก็ได้นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการพรรค อดีตเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เป็นโต้โผใหญ่ 
    

นอกจากนี้ยังมีอดีตส.ส.นครราชสีมา อาทิ นายจำลอง ครุฑขุนทด  นายประนอม โพธิ์คำ  นายประพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ รวมถึงนายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ เข้าร่วม โดยมีบรรดาว่าที่ประธานสาขาพรรคทั้ง 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ  บุรีรัมย์  สุรินทร์ และศรีสะเกษ ร่วมการสัมมนารวมกว่า 100 คน เมื่อชื่องานเป็นเรื่องอนุรักษ์กีฬาชนไก่ แต่เนื้อหาหนีมิติเรื่อง"การเมือง"ไม่พ้น เมื่อมีการตอกย้ำให้ต่อยอดเครือข่ายพรรคให้มีในทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 1 คน ในการขับเคลื่อนนโยบายพรรค เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน
    

ยิ่งฟังจากปาก"ชัช เตาปูน" ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ตามไปเกาะติดการสัมมนานี้ ก็พูดชัดถึง"การเมือง"เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ที่นับถอยหลังระเบิดศึกระหว่าง 16-19 ก.พ. 2564 นี้แล้ว โดยยืนยันจับมือร่วมกับ 4 พรรค รวม 16 เสียง  "ไปไหนไปด้วยกัน"  
    

ส่วนการจะยกมือโหวตนั้น ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายยังคลุมเครือ "เราอยู่ร่วมรัฐบาล มันเป็นตามมารยาทอยู่แล้ว" จึงจะขอฟังการอภิปรายก่อน และต้องดูว่าที่เขาชี้แจงมาส่งผลหรือไม่ และที่วงการการเมืองต้องเงี่ยหูฟัง คือประโยคที่ว่า "ถ้าฝ่ายค้านมีหลักฐานชัด ๆ หรือชัดเจน เราคงยกมือลำบาก" ซึ่งหากฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจน ก็จะต้องมาหารือร่วมกันก่อน 
    
 

นายชัชวาลล์ ยังย้ำหัวตะปูเพิ่มอีกว่า  การสัมมนาสมาชิกพรรคครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องการอภิรายไม่ไว้วางใจที่กำลังประชุมอยู่ อย่างไรก็ตามพูดถึงตอนนี้อายุรัฐบาลเหลือปีกว่าๆ ตนคิดว่าส่วนมากจะไม่ครบ 4 ปี ก็ตามระเบียบอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการถึงเวลาของพรรคเราที่จะเข้าไปร่วมบริหารนั้น เรื่องนี้อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลว่าจะเห็นสมควรหรือไม่ ส่วนอยากจะทำงานด้านไหนนั้น เราคนท้องถิ่นก็อยากทำให้ให้ท้องถิ่น เพราะถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณมาเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ ตนก็ว่าจะทำอะไรได้มากมาย
    

เป็นสัญญาณชัดเจนจากกลุ่มพรรคเล็กที่ไม่มีตัวแทนไปนั่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ว่าตามระเบียบรัฐบาลผสมหลายพรรคจะอยู่ไม่ครบเทอม 4 ปี  นี่ก็ผ่านมา 1 ปีกว่าแล้ว "ก็ตามระเบียบ"ที่ควรจะต้องขยับปรับครม.หมุนเก้าอี้ครม.ให้นั่งกันบ้าง  
    

และเสียงตีเกราะเคาะไม้เรื่องอย่างนี้ คงไม่มีเวลาไหนจะดังมากเท่าห้วงชี้เป็นชี้ตาย ในการยกมือโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจบรรดารัฐมนตรีที่นั่งร่วมรัฐบาลมา ภายใต้เหตุผล"ตอบข้อกล่าวหาฝ่ายค้านไม่ได้"  
      

ทั้งนี้ นอกจาก 16 เสียงของ 4 พรรคที่จับมือ"เดินด้วยกัน"แล้ว ยังอาจมีเสียงของพรรคเล็กหรือพรรคเดี่ยวอีก  7-8 เสียง รวมเป็น 20 กว่าเสียง ที่แม้"ชัช"จะยืนยันชัดว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะเห็นตรงกันและยกมือไปทางเดียวกัน ในทิศที่รัฐมนตรีที่โดนอภิปรายมีสิทธิ"หนาว"ได้ 
    

10 รัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่วางใจคราวนี้ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 5.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
    

6.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 9.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    

แบ่งเป็นทั้งรัฐมนตรีในโควต้านายกฯบิ๊กตู่ และรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย โดยในการโหวตไม่ไว้วางใจต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของส.ส. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 487 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 277 เสียง และฝ่ายค้าน 210 คน แต่เนื่องจากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ ไปร่วมกับฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลเหลือ 275 เสียง และฝ่ายค้านมี 212 เสียง  รัฐมนตรีต้องได้เสียงโหวตไว้วางใจเกิน 244 เสียงขึ้นไป 
    

รัฐมนตรีจะตกเก้าอี้เสียงโหวตของส.ส.รัฐบาลต้องหันไปโหวตให้ฝ่ายค้าน 32 เสียงขึ้นไป ซึ่งคงเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก แต่แกนนำรัฐบาลก็วางใจมากไม่ได้ เนื่องจากยังมีรายปริในรัฐบาลอีกหลายรอย รวมทั้งการเหยียบหัวแม่ตีนระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ในศึกเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช ที่พลังประชารัฐไม่ยอม"บาย"ให้ประชาธิปัตย์ เจ้าของเก้าอี้เดิม แต่ส่งตัวแทนพรรคลงชิงชัยในฐานะได้คะแนนมาอันดับ 2 ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จนทำให้สัมพันธภาพ 2 พรรคคุกรุ่น จนอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันในการลงมติครั้งนี้ได้