โอกาสเกิดสันติภาพในเมียนมา

15 ก.พ. 2564 | 01:05 น.

โอกาสเกิดสันติภาพในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้การประท้วงในเมียนมา เริ่มจุดติดมาเป็นอาทิตย์แล้ว สาเหตุเราคงไม่ต้องกล่าวอ้างถึงแล้ว เพราะสื่อต่างๆ ก็ประโคมข่าวกันคึกโครมไปแล้ว แต่สิ่งที่จะนำมาวิเคราะห์กันวันนี้ คือทางออกที่น่าจะเป็นในการสร้างโอกาสในการแสดงตัวเป็นผู้นำของประเทศไทยเรา เพราะสถานการณ์มักจะสร้างวีรบุรุษเสมอ หากเรารู้จักที่จะฉกฉวยโอกาสนั้นไว้ครับ
      
วันนี้สถานการณ์ในเมียนมา ต้องแบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลใหม่หรือฝ่ายรักษาความมั่นคง ฝ่ายรัฐบาลเก่าที่ถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองไปหรือพลพรรค NLD และสุดท้ายคือฝ่ายประชาชนผู้ที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลในวันนี้ คือผู้แสดงบทบาททั้งหมดในประเทศเมียนมาในวันนี้ และหากทั้งสามฝ่าย สามารถหาทางออกที่สวยงามได้ ประเทศเมียนมาไม่เกินสิบปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่สามารถเชิดหน้าชูตาในกลุ่มประเทศอาเชี่ยน ได้อย่างสง่าผ่าเผยเลยทีเดียวครับ
       
เรามาวิเคราะห์ถึงจุดยืนของแต่ละฝ่ายกันดูนะครับ วันนี้ฝ่ายรักษาความมั่นคง หรือฝ่ายทหารที่นำโดยท่านพล เอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ท่านเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สามารถทำการได้ ท่านก็ถือว่าเข้ามาอย่างชอบธรรม ส่วนสาเหตุนั้นทุกท่านก็คงจะรับรู้กันหมดแล้วนะครับ ดังนั้น หากจะให้ท่านถอยด้วยการ “เลิก” คงจะยากมากๆ เพราะหากท่านถอยจริง นั่นหมายถึงท่านต้องได้รับโทษฐาน “ก่อการกบฎ” อย่างโดยดุษฎีไม่ต้องสงสัย ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากอย่างที่กล่าวมาแล้ว 

 

ฝ่ายที่สองคือฝ่ายพลพรรค NLD ที่นำโดยท่านดอร์ อ่อง ซาน ซูจี ท่านเองเมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมา ท่านได้รับคะแนนสูงสุด มากถึงหกสิบกว่าเปอร์เซนต์ ท่านจึงเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมสูงสุด แต่วันนี้ท่านได้ถูกจับกุมตัว รวมทั้งบรรดาพลพรรคของท่านส่วนใหญ่ด้วย ดังนั้น จะให้ท่านถอยเพื่อหยุดรอให้ฝ่ายทหารบริหารประเทศไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง คงจะยากมากเช่นกัน จะเห็นได้จากมีกลุ่มสมาชิกพรรคของท่าน ได้ออกมาให้ข่าวลงสื่อต่างๆ ในช่องทางที่สามารถลงได้เป็นประจำ ต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกๆ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาเช่นกัน 
     
ฝ่ายที่สามคือกลุ่มประชาชนที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เริ่มจากวันที่สองของการเปลี่ยนแปลง ก็เกิดการนัดแนะให้ออกมาเคาะหม้อเคาะไหกันช่วงสองทุ่ม ทำมาได้วันสองวัน พอเห็นประชาชนเอาด้วย ก็ชวนกันลงถนน กลายเป็นการเดินขบวนกันเป็นรูปแบบขึ้น วันนี้เขาหล่านั้น เป็นคนหนุ่มคนสาวที่ไม่เคยผ่านสังเวียนการปราบปรามจากอำนาจรัฐยุคปี 1962 และปี 1988 แต่เขาเริ่มเกิดมาบนการเปลี่ยนแปลงประเทศจากยุคมืด มาสู่ยุคเริ่มสว่างไสว เขาเริ่มได้รับการศึกษาที่เต็มรูปแบบ อีกทั้งได้รับรู้ประวัติศาสตร์จากปากต่อปากจากรุ่นพ่อแม่มา เขาคงจะไม่ยอมถอยกลับไปรับบทเรียนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาอีกเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่า “ทางตัน” มาถึงแล้ว ทั้งสามฝ่ายคงจะหาเหตุผลมาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยนั้น “ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร” เลยละครับ
      
ส่วนผู้ที่อยู่วงนอกที่จะเข้าไปมีส่วนในการทำให้เกิดสันติภาพได้นั้น คงมีอยู่เพียงสองกลุ่มเท่านั้น เหตุผลที่ผมมองไม่เห็นว่า สิ่งที่ชาติตะวันตกหรือฝรั่งมังค่าจะทำได้นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ต่อให้คว่ำบาตรรุนแรงขนาดไหน เมียนมาคงไม่มีทางที่จะยอมแพ้  มีแต่จะทำให้เกิดความเกลียดชังเกิดขึ้นในใจคนเมียนมามากกว่า ในขณะที่ประเทศจีนในฐานะพี่ใหญ่ในภาคพื้นเอเชียเอง ก็คงจะไม่ยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหานี้หรอก เพราะเขานั่งอยู่เฉยๆ ใครจะแพ้ใครจะชนะ เขาก็รับผลประโยชน์เต็มๆทั้งสองฝั่ง เพราะว่าวันนี้ประเทศเมียนมาต้องพึ่งพาประเทศจีนทุกช่องทาง ในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา ดังนั้นยังไงก็ต้องได้ประโยชน์เต็มๆอยู่แล้ว 
     
ทีนี้เรามาดูสองฝ่ายที่ผมกล่าวถึงว่าสามารถมีบทบาทที่ดีนี้ คือประเทศบูรไน ในฐานะประธานกลุ่มประเทศ AEC ในปีนี้ ในช่วงแรกๆเขาก็ออกมาให้ข่าวว่า เป็นเรื่องของกิจการภายในของประเทศในกลุ่มสมาชิก ซึ่งตามกฎบัติอาเซียนก็เขียนไว้ชัดเจนว่า สมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศกลุ่มสมาชิกด้วยกัน แต่สองสามวันมานี้ เริ่มเห็นวี่แววว่าจะมีการเรียกประชุมประเทศสมาชิกกลุ่มทั้งหมด เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาแล้ว เขาสามารถที่จะทำหน้าที่ได้อย่างสง่าผ่าเผยและสวยงาม ไม่มีใครจะมาครหาได้ว่าแทรกแซงกิจการภายในได้ เพราะเขามีอำนาจหน้าที่ที่จะช่วยประเทศกลุ่มสมาชิกในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว หากเกิดสันติภาพในประเทศเมียนมาขึ้น ก็จะเกิดผลประโยชน์ทั้งหมดต่อทุกฝ่ายในเมียนมา และจะตกอยู่กับทุกๆฝ่ายในภูมิภาคนี้และโลกตะวันตกด้วยแน่นอน 

อีกประเทศหนึ่งคือ “ประเทศไทย” เรานี่แหละครับ ที่มีความสามารถที่จะช่วยในการให้เกิดสันติภาพในประเทศเมียนมาได้ เหตุผลเพราะเรามีชายแดนติดอยู่กับเขายาวถึงสองพันกว่ากิโลเมตร รวมทั้งเราเป็นเพื่อนบ้านที่มีมิตรไมตรีกับเขามาช้านาน และทุกครั้งที่บ้านเมืองเขาเกิดปัญหา เราจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้จากในยุคปี 1988 เราต้องรองรับผู้อพยพในค่ายที่อยู่ตามชายแดนไทยสิบจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ไปลี้ภัยที่ต่างประเทศ อีกทั้งหากเกิดเหตุการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศเมียนมา เรานี่แหละเป็นประเทศที่รองรับแรงงานอพยพมาช้านาน หากนับจำนวนแรงงานที่ปัจจุบันนี้ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยเราสองล้านกว่าคน และรวมทั้งจำนวนแรงงานที่เคยผ่านเข้ามาทำงานในประเทศไทยเรา มีมากถึงหลายล้านคนเลยทีเดียว นี่เป็นเหตุผลที่ฝ่ายที่สามคือประชาชนที่ลงมาเดินขบวนตามท้องถนน หากเราจะขอร้องให้เห็นแก่ประเทศชาติ เขาคงน่าจะพอรับฟังได้อยู่นะครับ
         
ทีนี้มาดูฝ่ายของท่านดอร์ อ่อง ซาน ซูจี ท่านเองในช่วงที่ได้รับตำแหน่งบริหารประเทศใหม่ๆ ประเทศแรกๆที่ท่านไปเยือน ก็คือประเทศไทยเรานะครับ อีกทั้งบิดาของท่าน ตอนที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้แก่ประเทศเมียนมา ท่านก็นำทีมมาอาศัยที่ประเทศไทย เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการก่อการ อีกทั้งการเจรจาสันติภาพในสนธิสัญญาปางหลวง หลายๆครั้ง ไทยเราก็ยังเอื้อเฟื้อสถานที่ในประเทศไทยเรา ในการเจรจาด้วย นี่คงเพียงพอที่จะสามารถแสดงบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยให้ในครั้งนี้ได้  เขาคงจะรับฟังรัฐบาลไทยที่มีแต่ความปรารถนาดีต่อเขาอย่างจริงใจแน่ๆ
         
ในฝ่ายของความมั่นคงที่มีท่านพล เอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ท่านเองก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกองทัพไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าท่านเองคงจะเข้าใจในความปรารถนาดีของเราเช่นกัน ดังนั้นหากเราจะอาศัยจุดแข็งของเรา แสดงตนในการขอร้องให้ทุกฝ่าย ถอยหลังคนละก้าว แล้วหันมาช่วยกันสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมา นี่จะเป็นโอกาสอันดี และหากประสบความสำเร็จ จะมีแต่เสียงชื่นชมจากทุกๆฝ่าย อีกทั้งในอนาคต หากเราจะเข้าไปทำการค้า-การลงทุน ชาวเมียนมาซึ่งเป็นคนที่รู้บุญคุณคนอย่างสูงมาก จะให้ความสะดวกสบายแก่เราเป็นอย่างดีแน่นอนครับ ลองดูนะครับ หากชั่งผลดี-ผลเสียแล้ว ผมคิดว่าน่าทำเป็นอย่างยิ่งครับ