ตั๋วร่วม รถไฟฟ้า ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า 30%

12 ก.พ. 2564 | 05:05 น.

กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้า-ขนส่งสาธารณะให้เป็นไปตามเป้าหมาย ช่วยประหยัดค่าโดยสาร30%

 

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม    เปิดเผยว่า จากกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แถลงข่าวปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีราคาสูงเกินไป โดยเรียกร้องภาครัฐบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ และมีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม คือ การเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชน   ทุกประเภท และการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของขนส่งมวลชนทั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคม      

ขอชี้แจงว่า แนวทางที่สามารถคุมราคาค่าโดยสารได้ คือ การนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับการบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เนื่องจากการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างระบบจะไม่คิดค่าแรกเข้าจะทำให้ค่าโดยสารระบบรางถูกลงกว่า 30% ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

                             

 

 

   1. การดำเนินงานระยะสั้น ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection: AFC) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อทำให้บัตรโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit สามารถใช้เดินทางข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) กับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สายสีเขียว) และส่วนต่อขยายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ให้สามารถใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit เดินทางข้ามระบบกันได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนและส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางข้ามระบบสูงขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าในแต่ละประเภทที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานดังกล่าว

ดังนี้ บัตรแมงมุม จำนวน 0.2 ล้านใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT    รวมจำนวน 2 ล้านใบ และบัตร Rabbit จำนวน 14.2 ล้านใบ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยระยะแรกจะใช้ได้กับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันภายใต้การกำกับของ รฟม. รฟท. และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก่อน (รถไฟฟ้า MRT รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และในอนาคตจะดำเนินการขยายการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสารต่อไป

                                2. การดำเนินงานระยะยาว ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งเป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชี โดยจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง        ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสาร สำหรับความคืบหน้า รฟม. และธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบตั๋วร่วมด้วยการนำบัตรเครดิตชนิด EMV (Europay Mastercard and Visa)  มาใช้เป็นตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นเพราะสามารถเดินทางก่อน แล้วชำระเงินภายหลังพร้อมรอบการชำระบัตรเครดิต โดยมีแผนงานดังนี้

1) เริ่มทดลองนำมาใช้กับทางด่วนหรือทางพิเศษในบางเส้นทาง เช่น ทางด่วนกาญจนาภิเษก    ทางด่วนอุดรรัถยา ทางด่วนศรีรัชวงแหวนรอบนอก เป็นต้น และจะขยายให้ครอบคลุมทางด่วนหรือทางพิเศษอื่น ๆ ภายในเดือนกรกฎาคม 2564

2) เริ่มโครงการนำร่องเพื่อนำมาใช้กับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยจะเริ่มจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ก่อนเป็นลำดับแรก คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมกราคม 2565

3) ปัจจุบันได้มีการใช้งานบนรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ     (ขสมก.) และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมรถโดยสารของเอกชนร่วมบริการต่อไป

4) เริ่มโครงการนำร่องเพื่อนำมาใช้กับเรือไฟฟ้าโดยสาร (MINE Smart Ferry)

 

 

 

 

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม จำนวน 2 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ กลไกและแนวทางการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม รวมถึงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมและค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีการออกตั๋วร่วม

มาตรฐานเทคโนโลยีระบบงาน มาตรฐานโครงสร้างข้อมูล มาตรฐานความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และมาตรฐานการดำเนินงานของระบบงาน 2) คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดเก็บค่าธรรมเนียม มาตรฐานการจัดสรรรายได้ มาตรฐานอัตราค่าโดยสารในกรณีใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และกรอบมาตรฐานค่าธรรมเนียมการชำระเงินและการเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการ

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายสูงสุดในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะแล้ว! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บ 16 ก.พ.

ด่วน รฟท.ปรับเวลาขายตั๋วโดยสารล่วงหน้า 30 วัน เริ่มพรุ่งนี้วันแรก

รฟท.เล็งเปิดประมูล “สายสีแดง” เม.ย.65

ผ่านฉลุย รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู 2.8 กม. รับคนเข้าอิมแพ็ค เมืองทองฯ

เคลียร์ค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เปิด 6 ข้อเสนอ สภาคุ้มครองผู้บริโภค ชงครม.