ยื่น 3 ข้อเสนอปรับหนี้โควิด

13 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

คืบหน้าตั้ง Warehousing สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชูโมเดลโอนทรัพย์หลักประกันให้แบงก์เจ้าหนี้บริหาร พร้อมเปิดช่องเติมเม็ดเงินใหม่ให้ซื้อคืน เตรียมยื่นขอขยายเวลาถือครองทรัพย์เกิน 5 ปี ยืดเวลาสิทธิประโยชน์ภาษี รวมทั้งยกเว้นกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 

แม้จะสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของตัวเองผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือนหรือในเดือนมิถุนายน 2564 โดยเห็นได้จากลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้น 8.28 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ทั้งสิ้น 4.84 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งโกดังเก็บหนี้หรือ Warehousing เพื่อนำมารับซื้อลูกหนี้จากสถาบันมาบริหารจัดการระหว่างที่ลูกหนี้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีรายได้จากผลกระทบจากโควิด-19 ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างระดมสมองกันระหว่างสถาบันการเงินเจ้าหนี้ หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง แม้เบื้องต้นได้หารือกันในสองแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนบริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี เพื่อรับซื้อลูกหนี้ออกจากสถาบันการเงิน หรือ การที่ลูกหนี้ยังคงอยู่กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายเดิมแต่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)คํ้าประกันสินเชื่อแต่ละราย 

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างหารือร่วมกันตามแนวคิดของโครงการ Warehousing แต่เมื่อสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมยังไม่ดีขึ้น หลังการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ดังนั้นเบื้องต้นธนาคารจึงพิจารณาให้ความช่วยเป็นรายกรณีไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า    

แหล่งข่าวกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการระดมสมองเกี่ยวกับลูกหนี้ เพราะธนาคารแต่ละแห่งมีข้อจำกัดหรือ วิธีการไม่เหมือนกัน บางธนาคารมีความสามารถบริหารจัดการ โดยไม่กระทบงบการเงิน อาจเก็บลูกหนี้ไว้และตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคือ เลือกที่จะดูแลลูกหนี้เอง เพราะรู้จักลูกหนี้ดีกว่า แต่บางธนาคารเลือกที่จะขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ออกไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบการเงิน 

“Warehousing มีโอกาสจะเกิดได้ ขึ้นกับกลไกที่จะออกมาว่า จูงใจสถาบันการเงินเจ้าหนี้และลูกหนี้แค่ไหน หากออกมาไม่มีกลไกน่าสนใจ เชื่อว่า สถาบันการเงินอาจเลือกบริหารเอง ซึ่งที่ผ่านมา มีข้อสรุปเพียงแนวคิด แต่ยังไม่มีข้อสรุปเชิง Action”

ลูกหนี้สถาบันการเงินที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่คุยกัน ส่วนใหญ่ยังเป็นกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไป โดยจะเป็นลักษณะโอนทรัพย์หลักประกันมาที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ แล้วให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งบริหารจัดการเอง โดยไม่ต้องขายลูกหนี้ออกไปที่อื่น แต่ในทางปฎิบัติอยู่ระหว่างหารือเพื่อขอขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลดหย่อนทางภาษีกรณีโอนทรัพย์ชำระหนี้ 

ยกตัวอย่าง โรงแรม A  มีใบอนุญาต เป็นลูกค้าดีมาตลอด ประสบความสำเร็จมาตลอด แต่ช่วงโควิดไม่มีซัพพลายเข้ามา สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะรับโอนทรัพย์หลักประกันมาชำระหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ไปก่อน เมื่อธุรกิจเดินได้ นักท่องเที่ยวกลับมา ลูกค้าสามารถที่จะแบกรับหนี้ได้เหมือนเดิม สถาบันการเงินก็จะพิจารณาสินเชื่อใหม่ เพื่อซื้อโรงแรม ซึ่งเป็นทรัพย์หลักประกันคืนไป

เพราะฉะนั้น จะมีการโอนทรัพย์หลักประกัน 2 ครั้งคือ ครั้งแรก ลูกหนี้โอนทรัพย์หลักประกันให้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ และครั้งที่ 2 โอนทรัพย์หลักประกันคืนลูกหนี้ โดยในส่วนของมูลหนี้เป็นดุลพินิจของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินมูลหนี้ได้ เพราะต้องขึ้นกับความยินยอมของลูกหนี้ด้วย หากลูกหนี้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการโอนทรัพย์หลักประกันชำระหนี้เพื่อลดภาระหนี้ในช่วงที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้ ซึ่งหากมีการตีโอนทรัพย์หลักประกันชำระหนี้ อาจลดหนี้ได้ทั้งจำนวนหรือเกือบทั้งหมด ขณะที่ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) แต่รวมถึงลูกหนี้ที่ขาดรายได้ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับแนวทางการโอนทรัพย์หลักประกันชำระหนี้นั้น นอกจากหารือรายละเอียดวงเงิน จำนวนรายลูกหนี้แล้ว จำเป็นต้องขอยกเว้นการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือขอขยายเวลาเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่า ด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่623) พ.ศ.2559 รวมถึงขอผ่อนปรนการถือครองทรัพย์หลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรพย์เกิน 5ปี ถ้าลูกค้าไม่พร้อมที่จะซื้อทรัพย์หลักประกันคืน หรืออาจจะเริ่มนับเวลาการถือครองทรัพย์หลักประกันกันใหม่ ส่วนราคาโอนทรัพย์ชำระหนี้นั้น ขึ้นกับการตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564