เตือนนักลงทุน ติดดอยเก็งกำไรทอง

14 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

กูรูทองคำชี้ ทั้งปีราคาสูงสุดไม่เกิน 28,000 บาทต่อบาท เตือนซื้อตุนเก็งกำไรระวังติดดอย เหตุราคาแกว่งและเหวี่่ยงระหว่างทาง แต่ยังเป็นสินทรัพย์น่าลงทุนที่สุดในช่วง คาดผลตอบแทน 7-10% ตํ่ากว่าปีก่อนที่ฟันกำไรกว่า 10% ห้างทองดิ้นสู้ ปรับแพกเกจ-ดีไซน์ ตอบโจทย์นิวเจนรับตรุษจีนควบวาเลนไทน์ 

ผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้จะลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือตํ่าสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2552 หลักๆ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง และผลกระทบของโควิด ทำให้การใช้จ่ายลดลง

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านทองที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เทศกาลตรุษจีนซึ่งปกติจะนิยมซื้อทองแจกลูกค้า พนักงาน แต่ปีนี้ซบเซา โดยราคาทองคำจากสมาคมค้าทองคำล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 (14.00 น.) ราคาทองคำแท่งขายออกที่ 26,100บาทต่อบาททองคำ ขณะที่ราคาทองรูปพรรณขายออกที่ 26,600บาทต่อบาททองคำ ขณะที่ทิศทางราคาทองคำในปีนี้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 โดยหลังจากที่ราคาทองคำแท่งแตะจุดสูงสุดของปีนี้ ที่ 27,650 บาทต่อบาททองคำ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ราคาทองได้ทยอยปรับตัวลงมาที่ระดับ 26,100 บาทต่อบาททองคำ โดยเป็นการปรับลดลงมา 750 บาท หรือลดลงประมาณ 2.79% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่ราคาทองคำแท่งปิดที่ 26,850 บาทต่อบาททองคำ

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บรรยากาศเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไม่มีกำลังที่จะมาซื้อขายทองคำ โดยเทศกาลปีใหม่ซบเซาลงกว่าปีก่อนโดยราคาปรับลดลงมาต่ำสุดเมื่อ 3-4 วัน แต่ก่อนที่จะเข้าเทศกาลตรุษจีน ตลาดคึกคักขึ้นมาบ้าง ซึ่งเข้าใจว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับตรุษจีน หลังจากตลาดก็น่าจะซบเซากว่าปีที่แล้ว 

ทั้งนี้ช่วงที่ราคาปรับลดลงเมื่อเทียบปีก่อน เพราะคนส่วนใหญ่จะซื้อทองคำรูปพรรณน้อยลง รวมทั้งบริษัทหรือองค์กรที่เคยซื้อทองคำแจกลูกค้าหรือพนักงานก็หายไปมาก ประกอบกับคนรุ่นใหม่บริหารกิจการจะให้โบนัสหรือแต๊ะเอียตั้งแต่ต้นปี พอมาถึงตรุษจีนก็จะลดลง 

ในส่วนของห้างขายทองจินฮั้วเฮงนั้น ต้องปรับตัวในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ สำหรับวัยรุ่น เป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ น่ารัก โดยเฉพาะปีนี้เทศกาลตรุษจีน และวาเลนไทน์(วันที่ 12ก.พ.และวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.) รูปแบบหลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น การ์ดทองคำน้ำหนัก 1กรัมประมาณ กว่า 2,000บาท, สร้อยคอทองคำ ครึ่งสลึง 8เส้นรวมน้ำหนัก 1 บาท และมี แพกเกจน่ารัก 

“ช่วงนี้ทองคำรูปพรรณชิ้นเล็กๆ ลูกค้าให้ความสนใจ มีการสั่งทำจำนวนมาก ถือว่าผลตอบรับดีทั้ง จี้ทองคำ สร้อยคำทองคำและสามารถสั่งทำตามน้ำหนักทองคำที่ลูกค้าต้องการ”นายจิตติกล่าว  

นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอสโกลด์แม่ทองสุกฯ (MTS GOLD Group)กล่าวว่า  ช่วงต้นปี 2564 ภาพรวมบรรยกาศการซื้อขายทองคำค่อนข้างซบเซา เนื่องจากราคาทองคำปรับขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว ที่ราคาทองคำอยู่ที่ 23,600 บาท ปีนี้อยู่ที่ 26,000 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งราคาทองคำปีนี้สูงกว่าตรุษจีนปีก่อน 3,400 บาทต่อบาททองคำ หรือ 15% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอจากการระบาดของโควิด ส่วนของการค้าขายทองคำรูปพรรณภาพรวมชะลอลงประมาณ 30-50% ส่วนทองคำแท่งซึ่งเป็นลักษณะของการลงทุนปริมาณการซื้อขายลดลงประมาณ 15% แต่ไม่มากเท่าทองคำรูปพรรณ

สำหรับช่วง 3-4 วันก่อนเทศกาลตรุษจีน ที่ราคาทองคำร่วงลงมา ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมาหน่อย แต่เมื่อเทียบปีก่อนแล้วดีกว่าเยอะ เพราะเศรษฐกิจไม่ดีและราคาทองคำแพงขึ้น โดยขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 3 หมื่นบาท ส่วนแนวโน้วช่วงที่เหลือจากนี้ ยังไม่มีปัจจัยบวก คนยังไม่มีอารมณ์จะออกเดินทางนอกบ้าน ส่วนตัวยังเชื่อว่า บรรยากาศซื้อทองคำรูปพรรณจะเงียบเหงาและซบเซา เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี  

ส่วนทองคำแท่งเพื่อการลงทุนยังมีนักลงทุนหันมาซื้อๆขายๆ เพื่อเก็งกำไร เพราะทองคำเป็นทรัพย์สินที่น่าลงทุนในโลกปัจจุบัน น่าจะใกล้เคียงปีก่อน แต่ในแง่ของราคาทองคำปรับตัวลดลงแนวรับ 1,800ดอลลาร์/ออนซ์  โดยปัจจัยบวกรอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ น่าจะคลอดปลายเดือนนี้ ซึ่งทำให้ราคาทองจะปรับสูงขึ้นได้ แต่ปัจจัยลบด้านการควบคุมโควิด หากวัคซีนมีประสิทธิผลควบคุมการระบาดได้ดี จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ทั้งปีทิศทางขาลงแต่ไม่มากเท่าปีก่อน ราว 1,950-2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยไม่ทำนิวไฮต์หรือราคาต่อเงินบาท สูงสุด 28,000 บาทต่อบาททองคำ และระหว่างทางราคาแกว่งขึ้นลง  เตือนลงทุนทอง

อย่างไรก็ตาม ทองคำเป็นสินทรัพย์น่าลงทุนที่สุดในขณะนี้ โดยปีก่อนให้ผลตอบแทนกว่า 10% แต่ปีนี้ผลตอบแทนน่าอยู่ 7-10% ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว 

รายงานข่าวจากบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ประเมินทิศทางราคาทองคำปีนี้ว่า ยังมีโอกาสทดสอบระดับ 1,950-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำ คือ การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้จะมีความคืบหน้าเกี่ยบกับวัคซีนออกมา แต่ตัวเลขการระบาดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ยังเต็มไปด้วยความผันผวน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 และการถือครองทองคำของกองทุน SPDR ที่ในปี 2563 มีการถือครองทองคำเพิ่มมากกว่า 270 ตัน แต่เริ่มเห็นการทยอยลดการถือครองลง

พร้อมแนะนำนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกเร็วกว่าที่คาด จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารกลางต่างๆ กลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มขาขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564