คลังห่วงคนแห่ลงทุนบิตคอยน์

11 ก.พ. 2564 | 08:15 น.

รัฐมนตรีคลัง ฝาก กลต. ดูแลบิตคอยน์ หลังคนแห่ลงทุนหวังผลตอบแทนสูง พร้อมย้ำเดินหน้าหนุนไทยสู่ EV

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาถกฐาพิเศษ หัวข้อ บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 2564 โดยเน้นย้ำฝากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลใน 5 เรื่อง คือ เรื่องบิตคอยน์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาด 

 

ดังนั้นจะต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ความรู้กับนักลงทุน หรือผู้ออมที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่แสวงหาผลตอบแทนที่สูง เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับตลาดทุนได้ 

 

“บิตคอยน์ เป็นเรื่องใหม่ต้องดูแลให้ดี เพราะวันนี้มันมีผู้ที่มีเงินน้อย มีความเสี่ยงต่ำแต่บังเอิญอยากได้ผลตอบแทนสูงก็มีความเสี่ยงมาก ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ไม่เสี่ยงไป” นายอาคม กล่าว 

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

 

2.ก.ล.ต. จะต้องเข้าไปดูแล หรือการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 3.การให้บริษัทใหม่ๆเข้าถึงตลาดทุนได้ 4.การยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน โดยเน้นการวางรากฐานระดับกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้ตลาดมีความมั่นคง และ5.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปีนี้ยังมีเรื่องโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แต่เชื่อว่าผลกระทบจะน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้ทุกคนสามารถปรับตัวและมีประสบการณ์มากขึ้นและยังมีความชัดเจนเรื่องการฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็นภูมิกันด้านสุขภาพและยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยในมุมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ มี 3 ตัว ได้แก่ วัคซีนระดับประเทศ ที่ต้องขับเคลื่อนตัวเลขจีดีพีให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างอยู่ในระดับเข้มแข็ง หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในกรอบที่กำหนด

 

วัคซีนที่ 2 คือภูมิคุ้มกันภาคธุรกิจ ที่ต้องมีการบริหารความเสี่ยงและวิเคราะห์ทิศทางของโลกได้ และวัคซีนตัวที่ 3 คือ สร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการออม โดยเฉพาะการมีเงินออมยามเกษีณ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่ต้องเข้าไปเชื่อมโยงการออมของประชาชนให้สอดคล้องกับการระดมทุนของบริษัทผ่านตลาดทุน ให้มีธรรมาภิบาล โดยมองการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นเทรนที่มาแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม 

 

ทั้งนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายการเงินและการคลังต้องสอดประสานกัน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางทั่วโลกทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่มีท่าทีสนับสนุนการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเช่นกัน เช่น มาตรการผ่อนคลายและพีกชำระหนี้ให้ภาคเอกชน และหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อให้นโยบายการคลังเดินหน้าได้อย่างมีประสทธิภาพ สามารถใช้นโยบายขาดทุนเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

รัฐมนตรีคลังยังระบุถึงสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในปี 64 ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจยั่งยืน หรือ BCG ได้แก่ ไบโอเศรษฐกิจหมุนเวียน และกรีนอีโคโนมี่ เช่น การผลักดันธุรกิจพลังงานสะอาด การมุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า ที่ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีระยะ 2 เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 12 อุตสากรรมใหม่ การส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อให้สอดรับการโลกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในปีนี้ภาครัฐจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนในระบบรางเป็นหลัก 

 

“ตอนนี่เริ่มทำแล้ว และในปี 64 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างภาษี ซึ่งจะมีทั้งมาตรการภาษีที่จูงใจ มีสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น และการปรับภาษีบางชนิดที่มีการใช้พลังานจากถ่านหินซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” อาคมกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดหนุน ‘บิทคอยน์’โต รับยุคสินทรัพย์ดิจิทัล

ก.ล.ต. เพิ่มประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ถอดรหัสธุรกิจ ‘Bitkub’ สู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่ง

"ทรีนีตี้" ตั้งเป้าลูกค้า 1,000 ราย ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

สินทรัพย์ดิจิทัล จะมาเร็วกว่าที่คิดเพราะ COVID-19