ใครมีสิทธิยื่นขอไกล่เกลี่ย "หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล" เช็กที่นี่ !

10 ก.พ. 2564 | 09:53 น.

ธปท.ร่วมมือกรมบังคับคดี และสถาบันการเงิน 21 แห่ง เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564

ความร่วมมือระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ลงนามร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม  สำนักงานศาลยุติธรรม   กรมบังคับคดี  และ ผู้ให้บริการทางการเงิน 21 แห่งซึ่งเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  จัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564

ใครมีสิทธิยื่นขอไกล่เกลี่ย "หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล"  เช็กที่นี่ !

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การร่วมมือกับองค์กรที่เป็นเสาหลักทางยุติธรรม ในการสร้างวัฒนธรรมการไกล่เกลี่ยให้เกิดขึ้นในระบบการเงินของไทยเพื่อให้ลูกหนี้มีทางเลือกที่ผ่อนปรนและทำได้จริง  ขณะที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนโดยไม่ต้องฟ้องบังคับคดีสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีในศาลและลดต้นทุนของระบบการเงินในภาพรวม โดยผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 21 แห่งจะช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้หาทางออกผ่าน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-14 เมษายน 2564

สำหรับเป้าหมายจากโครงการนี้ ธปท.ตั้งเป้าการไกล่เกลี่ยคดีให้ได้ 1 ใน 4 ของคดีแพ่งที่มีอยู่ 1.3ล้านคดีหรือมีเป้าหมายจะให้ความช่วยเหลือผ่านการไกล่เกลี่ยประมาณ 3แสนตดี ทั้งนี้คดีแพ่งฯจำนวน 1.3ล้านคดีประกอบด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล,สินเชื่อบัตรเครดิต, กู้ยืม,กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เช่าซื้อรถ เป็นต้น

ใครมีสิทธิยื่นขอไกล่เกลี่ย "หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล"  เช็กที่นี่ !

ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายยื่นขอไกล่เกลี่ย ได้แก่  1. หนี้บัตรดี แต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว  ค้างชำระไม่เกิน 3เดือน   2. หนี้ NPL ทั้งบัตรที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง    3.หนี้บัตรที่มีคำพิพากษาแล้ว  สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมในครั้งนี้เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้  อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 งานมหกรรมที่จะจัดขึ้นจึงเป็นการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ (Online mediation)

 

สำหรับข้อเสนอในกระบวนการไกล่เกลี่ย แบ่งเป็น   4 แนวทาง  ได้แก่   1.หนี้บัตรดีค้างชำระไม่เกิน 3เดือน สามารถแปลงสินเชื่อระยะสั้น เป็น สินเชื่อระยะยาว (เทอมโลน) สูงสุด4ปีหรือ 48 งวด อัตราดอกเบี้ย 12% และสามารถคงวงเงินในบัตรเครดิตได้ และไม่มีผลต่อประวัติการชำระหนี้ผ่านข้อมูลเครดิตบูโร 

2.หนี้บัตรเสีย  เอ็นพีแอลอยู่ระหว่างฟ้อง  จ่ายเฉพาะเงินต้น  ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำเสร็จตามสัญญา  โดยผ่อนจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปี   3.หนี้บัตรที่มีคำพิพากษาแล้ว  จ่ายเฉพาะเงินต้น ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 5 ปี โดยในปีที่ 1-3 จะต้องชำระเงินต้นให้ได้ 80% และปีที่ 4-5 ชำระอีก 20% และ 4.ผ่อนชำระตามแนวทางคลินิกแก้หนี้ ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-7% และดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำเสร็จตามสัญญา

 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี  ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วม และจะได้รับการติดต่อกลับภายใน 1 อาทิตย์