กยท.เทงบ 700 ล้านหนุนแปลงใหญ่ยาง

10 ก.พ. 2564 | 08:47 น.

การยางฯ เทงบสนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49(3) กว่า 700 ล้านบาทต่อปี หนุนทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ พร้อมผลักดันมาตรการบริหารน้ำยาง ออกจากระบบกว่า 200,000 ตัน ชะลอการขาย รอราคาขยับ

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการ 18,095 ราย พื้นที่สวนยางจำนวนกว่า 270,000 ไร่ มุ่งพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต /การเพิ่มผลผลิต /การพัฒนาคุณภาพ /การตลาด /การบริหารจัดการ โดยการบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หน่วยราชการ และภาคเอกชน ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายให้มีโรงงานแปรรูปยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กยท. ทั้ง 7 เขต วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 700 ล้านบาทต่อปี

 

ล่าสุด (4 ก.พ.64) คณะกรรมการ(บอร์ด)การยางแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำยางข้นในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ยางพาราให้กับสหกรณ์เครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานน้ำยางข้นของสถาบันเกษตรกรโรงงานเดียวที่รับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น โดย กยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49(3) วงเงินกว่า 31 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยหลังจากปรับปรุงโรงงานจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นจากเดิม 3 เท่าต่อวัน จึงสามารถรองรับน้ำยางสดจากเกษตรกรในภูมิภาคได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะรับซื้อน้ำยางสดในราคานำตลาด เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเก็บไว้ชะลอขายได้ ถือเป็นอีกวิธีบริหารจัดการน้ำยางสดอีกวิธีหนึ่งในช่วงที่สถานการณ์ยางมีความผันผวน

กยท.เทงบ 700 ล้านหนุนแปลงใหญ่ยาง

                                         ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาด โดยการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ในฤดูปิดกรีดที่ราคายางสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับราคาที่สถาบันเกษตรกรเห็นว่าเหมาะสมแล้วนำออกมาขาย ซึ่ง กยท. ได้จัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมี เพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้  2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน เบื้องต้นดำเนินการแล้วในจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมและรับแทงค์รวบรวมน้ำยางสดแล้วกว่า 90 ถัง และในสัปดาห์นี้ได้เร่งดำเนินการเพิ่มเติมในจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวถึง สถานการณ์ราคายางในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อยลง โดยปัจจัยหลักมาจากฤดูปิดกรีดยาง ตอนนี้พื้นที่สวนยางในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ตอนบนเข้าสู่ช่วงผลัดใบและหยุดกรีดแล้ว ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยาง ของ กยท. พบว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาด 519,614 ตัน คาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำยางจะเหลือ 353,224 ตัน ลดลงร้อยละ 32 และจะลดลงต่อเนื่อง ไปจนถึงเมษายน ซึ่งมีปริมาณน้ำยางลดลงจากเดือนมกราคม มากถึงร้อยละ 80 ตัวเลขนี้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลผลิตน้ำยางในตลาดกำลังน้อยลง ประกอบกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน จึงสอดคล้องกับแนวโน้มราคายางที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในทิศทางบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กด่วน “เงินประกันรายได้ยางพารา" กลุ่มตกหล่น ธ.ก.ส. นัดโอน 12 ก.พ.

“ปิดกรีด” ยังจ่ายประกันรายได้ยางพารา ต่อเนื่อง

ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร?

หาคำตอบบิ๊กยางพาราไทย ใครถูก ‘เทคโอเวอร์’

“Rubber Valley” ชาวสวนยางพาราได้อะไร?