SMEs แห่ขอบสย.ค้ำสู้ภัยโควิด

14 ก.พ. 2564 | 09:00 น.

บสย.โชว์ผลงาน 2 เดือน อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 1.5 หมื่นล้าน ปลื้มเอสเอ็มอีตอบรับเกินเป้า พร้อมขยายเวลาให้ยื่นคำขอถึงสิ้นเดือนก.พ. “รักษ์”เดินหน้าลดพึ่งพาเงินหลวง เพิ่มสัดส่วนค้ำประกันของ บสย.เอง เล็งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ 400 ล้านบาท

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมีการจ้างงานในระบบเกือบ 12 ล้านราย แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบ ครัวและสายป่านสั้น ทำให้มีประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงแหล่เงินทุน เพราะหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ ซึ่งเดิมก้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทางการ 

โดยเฉพาะหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีกจำนวนมาก รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ จากการที่สถาบันการเงินยังไม่มั่นใจการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมองว่าผู้ประกอบการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) จึงถูกดึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เพื่อเป็นหลักประกันให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีสภาพคล่องที่เพียงพอและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

โครงการค้ำประกันบสย.ปี2564

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(1 ธันวาคม 2563- 5 กุมภาพันธ์ 2564) บสย.ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับจัดสรรรวม 1.75 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMES สร้างชาติหรือ PGS9 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทและอีก 2.5 หมื่นล้านบาทในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. ไมโครต้องชนะ” ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับความสนใจเกินเป้า จึงขยายเวลาให้ยื่นคำขอค้ำประกันสินเชื่อสุดสุดในเดือนกุมภาพันธ์ จากเดิมกำหนดไว้ภายในสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

สำหรับโครงการบสย. SMEs ไทยสู้โควิด วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 2 แสนบาทถึง 20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ค้ำประกันสูงสุด(Max Claim)ที่ 35%วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท สามารถปิดโครงการและขยายระยะเวลาให้สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มวงเงินอีก 5,000 ล้านบาทในสัปดาห์นี้ 

ขณะที่โครงการ “บสย.รายย่อยไทย สู้โควิด” วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 10,000-100,000 บาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินได้รับจัดสรร 5,000 บาท Max Claim สูงสุดที่ 40% ความคืบหน้าล่าสุด มีผลตอบรับอนุมัติการค้ำประกันไปแล้ว 1,500 ล้านบาท ที่เหลืออีก 3,500 ล้านบาทได้ขยายระยะเวลาให้สามารถยื่นขอรับการค้ำประกันภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 

ทั้งนี้บสย.ได้รับความสนใจเกินเป้าหมาย เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำเป็นต้องใช้เครดิตของบสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อสู้ภัยโควิด มียอดสะสมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 1.2-1.4 แสนราย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิคในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนถึงปัจจุบัน เพราะวิกฤติโควิดได้ส่งผลกระทบกระจายตัวจากบนลงล่าง ทำให้ผลกระทบหนักกว่าวิกฤติครั้งก่อนๆ 

ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารพันธมิตร 5 แห่ง ที่มีอันดับวงเงินอนุมัติค้ำประกัน และวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติสูงสุด ตามลำดับคือ ธนาคาร กสิกรไทย 1.95 แสนล้านบาท และกว่า 3 แสนล้านบาท, ธนาคาร ทหารไทย 1.89 แสนล้านบาท และ 2.48 แสนล้านบาท, SME bank 1.55 แสนล้านบาท และ 1.75 แสนล้านบาท ,กรุงไทย 8.01 หมื่นล้านบาท และ 1.56 แสนล้านบาท ปิดท้ายด้วยธนาคาร กรุงเทพ 6.87 หมื่นล้านบาท และ 9.61 หมื่นล้านบาท ส่วนคุณภาพพอร์ตสินเชื่อกลุ่มลูกค้าสู้ภัยโควิดนั้น บสย.ให้กรอบเวลาลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 จากนั้นจึงจะเข้าประเมินคุณภาพพอร์ตดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันสินเชื่อจะเปลี่ยนแปลงตามผลิตภัณฑ์ แต่เบื้องต้นจะกำหนด Max Claimไว้ที่ 30% ซึ่งถ้าวงเงินค้ำประกันที่ 1 แสนล้านบาท จะมีรายจ่ายจาก Max Claim อยู่ที่ 3%ต่อปี ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐจะต้องชดเชยในอัตรา 1.5% ของยอดค้ำประกันสินเชื่อ และที่เหลืออีก 1.5% เป็นการเรียกเก็บจากลูกหนี้ 

“ค่าใช้จ่ายของบสย.จากภาระค้ำประกันของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPG มีมูลค่าสะสมกว่า 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10%ของพอร์ตค้ำประกันสินเชื่อรวม ซึ่งปีนี้คาดว่า จะทยอยขายออก 2 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนั้น บสย.จะเน้นแผนพัฒนาองค์กร เพื่อลดการพึ่งพาภาครัฐ ทั้งในแง่ของการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทั้งลดสัดส่วนเงินชดเชย Max Claim จาก 100% เป็น 70:30 คือ เป็นเงินของ บสย.30% เพื่อลดการพึ่งพาเงินของภาครัฐ หรือ สร้างสมดุลการสร้างรายได้จากการทำธุรกรรมค้ำประกัน (Fee Base Income) ปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะทำได้ 400 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าประกันชดเชย การขายประกันและการเป็นที่ปรึกษาต่างๆ รวมถึงการหาสินเชื่อให้กับลูกค้าด้วย 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564