ไบเดนเปิดทำเนียบขาวหารือผู้นำธุรกิจเอกชนขอแรงหนุนแผนกระตุ้นศก. 1.9 ล้านล้านดอลล์

09 ก.พ. 2564 | 22:43 น.

“โจ ไบเดน” เชิญผู้นำภาคธุรกิจ-ค้าปลีก-ธนาคาร หารือร่วมผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หนุนครัวเรือน-ภาคธุรกิจสู้โควิด

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง เชิญ ผู้บริหารบริษัทเอกชนชั้นนำของสหรัฐ ในหลากหลายสาขา เข้าพบที่ทำเนียบขาววานนี้ (9 ก.พ.) เพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้นำภาคเอกชนในการร่วม ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา และร่วมกันมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ข่าวระบุว่าตัวแทนภาคเอกชนครั้งนี้มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทวอลมาร์ท (ค้าปลีก) แก็ป (เชนเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์) เจพีมอร์แกน (การเงิน-ธนาคาร)โลวส์ (ค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน) รวมทั้งผู้บริหารหอการค้าอเมริกัน รวมอยู่ด้วย

 

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง

สาระสำคัญของการหารือ คือร่วมกันให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือเยียวยาภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสหรัฐ ให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเด็นการหารือครอบคลุมถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตด้วย ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้นำภาคเอกชน มีความต้องการเสนอแผนให้ภาครัฐช่วยเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนให้กับพนักงานและคนงานในโรงงานอย่างเพียงพอและทั่วถึง รวมทั้งเรื่องเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

ทั้งนี้นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ย้ำถึงความสำคัญของการลงมือผลักดันมาตรการต่าง ๆอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการณ์ โดยเห็นว่าต้องเร่งอัดฉีดมาตรการการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น การฟื้นตัวของตลาดแรงงานก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายปี แทนที่จะฟื้นตัวแบบเต็มสูบในปีหน้า (หากทุกอย่างเป็นตามแผนที่รัฐบาลวางไว้)

 

ข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดในเดือนม.ค. 2564 ชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐมีการจ้างงานในช่วงเดือนม.ค.เพียง 49,000 อัตราทั่วประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 6.3% (ลดลงจากระดับ 6.7%) ในส่วนของรัฐสภาได้มีความพยายามที่จะเร่งขับเคลื่อนกระบวนการอนุมัติมาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำเสนอให้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 ก.พ.)  สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติร่างงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบ fast track ที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะทำให้สภาสามารถรับรองร่างงบฯได้เร็วขึ้นโดยอาศัยคะแนนเสียงเพียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะต้องใช้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 เหมือนการผ่านร่างกฎหมายทั่วไป เป็นการตัดปัญหาที่ว่าร่างงบฯต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากฝั่งพรรครีพับลิกันด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้มีความหวังว่า เป็นไปได้ที่สภาคองเกรสจะให้การรับรองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค.ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะหมดอายุลง

 

ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลปธน.โจ ไบเดน ประกอบด้วย  1.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมงในปัจจุบัน สู่ระดับ 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง2.เพิ่มวงเงินในการส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็นคนละ 2,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ได้คนละ 600 ดอลลาร์3. เพิ่มวงเงินช่วยเหลือคนตกงานเป็น 400 ดอลลาร์/สัปดาห์ และให้ขยายโครงการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.25644.ให้เงินช่วยเหลือรัฐต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่น จำนวน 3.50 แสนล้านดอลลาร์5.ให้เงินช่วยเหลือโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จำนวน 1.70 แสนล้านดอลลาร์6.ให้เงินสนับสนุนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์7.ให้เงินช่วยเหลือในโครงการวัคซีนแห่งชาติภายใต้ความร่วมมือกับรัฐและองค์กรต่างๆ วงเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

นายจอช โบลเท็น ประธานกลุ่มบิซิเนส ราวด์เทเบิล หรือ บีอาร์ที ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจเอกชนหลายรายในสหรัฐ ให้ความเห็นก่อนการเข้าร่วมประชุมหารือกับปธน.ไบเดนว่า สมาชิกมีความเห็นตรงกันว่าต้องการเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ในขนาดของวงเงินตามที่รัฐบาลนำเสนอ แต่ประเด็นที่มองว่ายังอาจเป็นอุปสรรคคือเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ที่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมงในปัจจุบัน สู่ระดับ 15 ดอลลาร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐมีลุ้นสภาไฟเขียวมาตรการกระตุ้น-เยียวยาเศรษฐกิจก่อน 15 มี.ค.

ตัวเลขตกงานน่าห่วง "ไบเดน"จี้คองเกรสเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “โจ ไบเดน” 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ "American Rescue Plan"

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอบใหม่ ระยะสั้นยังเสี่ยง