พรรคร่วมรัฐบาล แหกโผโหวตสวน ส่งศาลตีความแก้รธน.

10 ก.พ. 2564 | 03:55 น.

รัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 เสียง ส่งศาลรธน.ตีความแก้รัฐธรรมนูญ เผยพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” โหวตสวนไม่เห็นด้วย

 

การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีวาระ สำคัญในการพิจารณาญัตติด่วน ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้ดำเนินการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้เท่านั้น

ทั้งนี้ การประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติดังกล่าว กว่า 4 ชั่วโมง

มีผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะมองว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้องค์กรอื่นตีความการทำหน้าที่ อีกทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางกฎหมายที่หาทางออกไม่ได้ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าญัตติดังกล่าวหากถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่รัฐสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้มีผู้อภิปรายสนับสนุนส่งญัตติดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ว. ที่มองว่าควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อหน้าที่และอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

มติ 366:316 ส่งศาล

จากนั้นนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะผู้ร่วมเสนอญัตติ อภิปรายปิด ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีและทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ใช้อำนาจเกินรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบกำหนด 

โดยปี 2563-2564 มีญัตติที่สภาฯ ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รวม 11 คำร้อง แสดงว่าศาลรัฐธธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาญัตติของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ญัตติดังกล่าวถือว่าชอบอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีความเห็นทางข้อกฎหมายแตกต่างกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ตนไม่กลัวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยถ่วงดุลการทำงาน

 

ต่อมานายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม สั่งให้ที่ประชุมลงมติ ผลปรากฎว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ด้วยคะแนน 366 ต่อ 316 งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนนไม่มี จำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 696 คน

ภายหลังจากรับทราบมติแล้ว นายไพบูลย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ มีสีหน้ายิ้มแย้ม และเดินไปจับมือและขอบคุณ ส.ว. ยังบริเวณที่นั่งในห้องประชุมด้วย

พรรคร่วมรัฐบาล แหกโผโหวตสวน ส่งศาลตีความแก้รธน.

 

 

3 พรรครัฐบาลโหวตสวน

สำหรับผลการลงมติที่เห็นชอบกับญัตติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพบว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคขนาดเล็ก ประกอบด้วย พรรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยรักธรรม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ รวมถึงส.ว. ลงมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว 

แต่ก็มีส.ว.งดออกเสียง จำนวน 7 คน อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายอำพล จินดาวัฒนะ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล  

 

ขณะที่การลงมติไม่เห็นด้วยกับการส่งญัตติให้ศาลวินิจฉัย ประ กอบไปด้วย พรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย 

รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ยกเว้นนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งเดียวที่โหวตสวนมติพรรค โดยโหวตลงมติเห็นด้วย

ด้าน ส.ส.พรรคชาติพัฒนา จำนวน 4 คน งดออกเสียง ส่วนพรรคเศรษฐกิจใหม่ เสียงแตก มีผู้ลงมติเห็นด้วย 1 คน ได้แก่ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรค ลงมติงดออกเสียง 4 คน และลงมติไม่เห็นด้วย 1 คน คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

เป็นที่น่าสังเกตว่าส.ส.ที่มักจะโหวตสวนมติของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. และ นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี รวมถึงนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ไม่ได้ร่วมในการลงมติดังกล่าวแต่อย่างใด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,652 หน้า 12 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2564