กรุงไทย ชี้ธุรกิจต้องลงทุน BCG เพิ่ม8.2แสนล้าน รับมือสิ่งแวดล้อมใน5ปีข้างหน้า

09 ก.พ. 2564 | 11:00 น.

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยชี้ธุรกิจไทยต้องลงทุน BCGเพิ่ม 8.2แสนล้านบาท เพื่อครอบคลุม “เศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว” เหตุคู่ค้ากดดันด้านสิ่งแวดล้อม

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยชี้ธุรกิจไทยต้องลงทุน BCGเพิ่ม 8.2แสนล้านบาท เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 28%ต่อจีดีพีเพื่อครอบคลุม “เศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว”  เหตุคู่ค้ากดดันด้านสิ่งแวดล้อม 

ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ได้ดำเนินมาตรการภาคบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น และล่าสุดสหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันอย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรมและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก พลังงาน 

 นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) จึงเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจไทยมากขึ้น  เนื่องจากความเสี่ยง Climate Change มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี  ซึ่งจากผลสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2020 และ Stanford University ประเมินว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.2-5.4 องศา อาจทำให้จีดีพีต่อหัวโดยเฉลี่ยลดลง หรือคนจนลงมากถึง 23% ภายในปี 2643 และไทยอาจจะลดลงมากถึง 50%

            ปัจจัยดังกล่าว จึงเกิดเป็นนโยบายการลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญ เนื่องจากจะมีผลต่อการค้าโลกที่ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และญี่ปุ่นมีนโยบายค่อนข้างเข้มงวดในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทย และอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทย  ล่าสุด สหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป เช่น การเก็บภาษีจากคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้

ถ้าในระยะ 5ปีข้างหน้า ไทยต้องการดำเนินตามนโยบาย BCG เพื่อสร้างมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท จะต้องมีการลงทุนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ทำให้สัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 4% จากระดับปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 23-24% ต่อจีดีพี เพิ่มเป็น 28% ต่อจีดีพี  

            ขณะเดียวกันเพื่อเตรียมความพร้อมกับ New Normal  โดยเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก ได้แก่ 1.การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน 2.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และ 3.การประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจ

            ที่ผ่านมา ไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งยังทำได้ไม่เต็มที่  ถือว่าค่อนข้างน้อย  ส่วนหนึ่งเพราะขาดการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเห็นได้ว่าสัดส่วนค่าเฉลี่ยการวิจัยและพัฒนาของไทยอยู่ที่ระดับ 1.1% เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 2.3%