จำเป็นจริงเหรอ ที่ต้อง “Rebalance Port” 

09 ก.พ. 2564 | 06:58 น.

การลงทุนระยะยาวแล้วทุกคนต้องรู้จักกับคำนี้เป็นอย่างแรก คือ Rebalance Port เป็นการปรับสัดส่วนการลงทุน ทำให้ความเสี่ยงจากการลงทุนไม่มากหรือน้อยเกินไป



รู้งี้...ตอนนั้น...น่าจะทำอย่างโน้น อย่างนี้ นี่เป็นประโยคคลาสสิคที่เราๆ มักจะคุ้นเคย สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้วทุกคนต้องรู้จักกับคำนี้เป็นอย่างแรก นั่นก็คือ การ Rebalance Port เป็นการปรับสัดส่วนการลงทุน ให้คงไว้ตามที่เราต้องการลงทุน ทำให้ความเสี่ยงจากการลงทุนไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อพอร์ตการลงทุนของเราเปลี่ยนไป แล้วทำไมเราต้องทำ Rebalance ด้วย

การทำ Rebalance คือการปรับสัดส่วนการลงทุนให้กลับมาเท่าเดิมกับตอนที่เราลงทุนครั้งแรก ซึ่งการปรับแบบนี้ จะทำให้ความเสี่ยงที่เราเริ่มลงทุนกลับมาเท่าเดิม นี่คือการทำ Rebalance เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์เปลี่ยนไป ย่อมต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแน่ๆ อย่างเช่นการลงทุน เพราะเมื่อลงทุนไปแล้วหากไม่กำไรก็ขาดทุน เพียงแค่ว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงบางอย่างลงไปได้

ดังนั้น เมื่อเราต้องการลงทุนระยะยาว การ Rebalance Port (การปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างเดิม) จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่า “รู้งี้” Rebalance ตั้งนานแล้ว ซึ่งคำพูดนี้มักจะเกิดขึ้นตอนช่วงตลาดขาลง หรือผลตอบแทนคาดหวังไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าเป็นช่วงหุ้นขาขึ้น หลายคนมักจะไม่สนใจว่าจะต้อง Rebalance เพราะเห็นแก่กำไรที่เกิดขึ้นในจังหวะนั้น และก็คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ตอนนี้เป็นช่วงกอบโกย หยวนๆ ไปก่อน การที่เราคิดแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่ไม่อยากให้ความโลภมาบังตาจนทำให้เราหลงลืมเป้าหมายของการลงทุนไป
 

เรามาลองดูตัวอย่างกัน เช่น เรารับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่ไม่อยากลงทุนอะไรซับซ้อน จึงเลือกลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% ด้วยเงินลงทุนอย่างละ 500,000 บาท รวมทั้งพอร์ตเป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน ปรากฏว่าหุ้นไทยขึ้นพรวดพลาด เติบโดยไป 20% ในขณะที่ตราสารหนี้เติบโตไปเพียง 1% เท่านั้น

 

จำเป็นจริงเหรอ ที่ต้อง “Rebalance Port” 
 
การ Rebalance Port ในเคสนี้ คือการขายหุ้นออกจำนวน 47,500 บาท และนำเงินจากการขายมาลงทุนในตราสารหนี้เพิ่ม เพื่อให้ได้สัดส่วนการลงทุนที่ 50:50 เท่าเดิม ตามที่เราต้องการลงทุน แต่ถ้าหากไม่อยากขายหุ้นออกมาลงทุนในตราสารหนี้ เราก็สามารถเพิ่มเงินลงทุนโดยลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มอีก 95,000 บาท เพื่อให้สัดส่วนเงินลงทุนเท่ากับ 50:50 ก็ทำได้เช่นกัน หากเราไม่ทำการปรับพอร์ต เท่ากับว่าตอนนี้เราลงทุนในหุ้นมากกว่า 50% ดังนั้น หากอนาคตตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงเราก็มีโอกาสขาดทุนมากขึ้นเพราะเราลงทุนในหุ้นมากขึ้นจากการเติบโตของหุ้นที่ผ่านมา
 

ในทางกลับกัน หากลงทุนแล้วไม่เป็นไปตามที่เราคาด ตลาดเกิดพลิกล็อคทำให้เราขาดทุนไป 20% ในขณะที่ตราสารหนี้ยังให้ผลตอบแทนที่ 1% เท่าเดิม

จำเป็นจริงเหรอ ที่ต้อง “Rebalance Port” 
 
ถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราน่าจะมา Rebalance Port เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนให้เท่ากับตอนต้น โดยการขายตราสารหนี้ออก 52,500 บาท เพื่อมาซื้อหุ้น หรือจะเพิ่มเงินลงทุนในหุ้น 105,000 บาท เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนปรับมาเป็น 50:50 ก็ทำได้เช่นกัน

การทำ Rebalance Port เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนไม่ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่เราต้องการลงทุน ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากอายุของเราที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมลงทุน 50:50 อาจปรับเปลี่ยนการลงทุนในหุ้นน้อยลงเมื่อมีระยะเวลาลงทุนคงเหลือน้อยลง รวมถึงความวิตกกังวลจากการลงทุน ฯลฯ ซึ่งเราสามารถปรับลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ แนะนำให้มีการ Rebalance Port ทุก 1 ปี และทบทวนแผนของตัวเองว่ายังเหมือนกับความตั้งใจแรกของเราไหม หากมีอะไรที่เปลี่ยนไป จะได้ปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของตัวเองให้เหมาะสมอยู่เสมอ...เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว รับรองงานนี้ต้องบอกว่าเจ้าของเงินจงรวยๆ
 

 

โดย :  อรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP®