เส้นตาย 3 เดือน  ‘เกษตรกร-เอกชน’งัดข้อเกาะขบวน CPTPP

11 ก.พ. 2564 | 05:15 น.

ปลุกกระแส CPTPP รอบใหม่ กนศ.ขีดเส้นรู้ผลไทยร่วมวงหรือไม่ใน 3 เดือน หลังคู่แข่ง-คู่ค้า 7 ประเทศดาหน้าเตรียมสมัครร่วมวง กระตุ้นไทยต้องเร่งสปีด “ประพัฒน์” จี้เตรียมความพร้อม ผวาเสี่ยงเกษตรกรรายย่อยล่มสลาย สภาหอฯลั่นห้ามพลาดเกาะขบวน “วีระกร” ชี้ถ้าไม่พร้อมอย่าร่วม

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นัดแรกของปี 2564 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ได้รับทราบผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร

 

เรื่องนี้เดิมที ครม.ได้มอบหมายให้นายดอน รับข้อสังเกตของกมธ.ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ส่งผลการพิจารณา ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน ล่าสุดในการประชุม กนศ.ครั้งที่ 1/2564 (5 ก.พ.64) กนศ.ได้ขอเวลาอีก 3 เดือนเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาตามกรอบที่ทาง กมธ.เสนอมา ก่อนจัดทำข้อสรุปประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าสมัครเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ ซึ่งหากไทยจะสมัครเข้าร่วมตามขั้นตอนต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อนำสู่ขั้นตอนยื่นสมัครต่อสมาชิก CPTPP ภายในเดือนสิงหาคมนี้  

แหล่งข่าวจาก กนศ. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมได้สรุปสถานะล่าสุดของกลุ่ม CPTPP มีภาคีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ แบ่งเป็น 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันรับรองแล้ว ได้แก่ เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, แคนาดา, ออสเตรเลีย และเวียดนาม และ 4 ประเทศ ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน  ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ชิลี และ เปรู ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคมนี้ญี่ปุ่น  จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP (CPTPP Commission) เพื่อพิจารณาประเทศสมาชิกใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง รายงานล่าสุดมี 7 ประเทศที่แสดงความสนใจ อาทิ สหราชอาณาจักร(อังกฤษ), จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบีย

 

ขณะที่นายดอน ระบุว่า ที่ผ่านมาจีน และสหรัฐฯ ก็สนใจจะเข้าร่วม อังกฤษก็สมัครแล้ว เกาหลีใต้ก็สนใจจะเข้า เวลานี้ไทยยังช้ากว่าอังกฤษหลายช่วงตัว เพราะฉะนั้นต้องเอาข้อมูลผลการศึกษาของ กมธ. CPTPP มาย่อยดูให้ละเอียดขึ้น

 

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าร่วมเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมิก CPTPP เป็นเรื่องใหญ่มาก วันนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังไม่เห็นรัฐบาลจะเตรียมพร้อมอะไรเลย ทั้งในส่วนของผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้ปลูกพืชไร่ อาหารสัตว์  เรื่องสิทธิบัตรยา และอื่น ๆ  

เส้นตาย 3 เดือน   ‘เกษตรกร-เอกชน’งัดข้อเกาะขบวน CPTPP

“ขอเตือนรัฐบาล หากยังไม่มีอะไรเตรียมพร้อม จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อเกษตรกรในเชิงลึกมาก เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยหลายสาขาการผลิตอาจจะล่มสลาย นี่คือข้อกังวลและห่วงใย”

 

ขณะที่นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ข้อตกลง CPTPP ที่มีข้อกำหนดให้ประเทสมาชิกต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ที่หลายฝ่ายเกรงจะส่งผลกระทบกับเกษตรกร และก่อนหน้านี้หลายฝ่ายได้ออกมาโจมตีในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดีในเรื่อง UPOV 1991 อยากให้มองว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่ ในที่สุดสถานการณ์โลกก็ต้องพาเข้า แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลาปีนี้ก็ไปเข้าไปเลย

 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างน้อยรัฐบาลมีแนวคิดที่จะเข้าร่วมเจรจา CPTPP  หากจุดไหนคิดว่าเสียเปรียบ หรือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ก็สามารถเจรจาขอผ่อนปรนออกไปก่อน โดยยึดโมเดล “เวียดนาม” ที่ขอผ่อนปรนในบางสินค้าในการขอยกเลิกภาษีออกไป 20 ปี แต่ข้อไหนที่ไม่เสียเปรียบให้เริ่มทำทันที เป็นเรื่องที่ทางภาคเอกชนผลักดัน และบอกกับรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นเราจะสู้เวียดนามไม่ได้

 

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึง การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรองรับผลกระทบขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

 

นายวีระกร  คำประกอบ ประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า  จุดยืนของคณะกรรมาธิการฯเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วไทยต้องเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อลดความเสียเปรียบและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ก่อนเข้าร่วมเจรจาไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ในประเด็นที่อ่อนไหวของไทย ซึ่งทางกมธ.ได้ให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลไปแล้วในหลายเรื่อง ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมเจรจา การเตรียม ความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ระหว่างที่มีการเจรจาที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี

 

จุดยืนของคณะกรรมาธิการฯคือถ้าเราไม่พร้อมอย่าเข้า ต้องพร้อมก่อนถึงจะเข้าร่วม อย่าไปผลีผลาม ดังนั้นข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ทาง กมธ. ได้ให้ข้อเสนอแนะไปต้องทำให้แล้วเสร็จ หรือไม่ก็ต้องเริ่มต้นได้แล้ว ความจริงไม่ได้ยากเย็นอะไร ขอให้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงกับเกษตรกรตามที่เราแนะนำไป โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร หรืออะไรที่จะมีผลกระทบกับเกษตรกรต้องทำเสียให้เสร็จทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ข้าว การวิจัยพันธุ์ข้าว การวิจัยพันธุ์พืชที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรต้องทำให้ประชาชนไม่เดือนร้อนจาก UPOV1991 เรื่องอื่นก็พอทำเนา อย่าง CL ยาเราก็เชื่อว่าไม่มีผลกระทบ เพราะยังคงทำได้เหมือนเดิม เรื่องอื่นก็แค่แก้ไขกฎกระทรวงไม่ได้ยาก แต่เรื่องที่ต้องเร่งทำคือการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบกับชาวนา ทำเสียให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นประชาชน ชาวนาชาวไร่เขาไม่ยอมหรอก"

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอเวลา3เดือนไทย เข้า-ไม่เข้า CPTPP

“ชาวนา”  ต้าน กมธ. ปลุกผี “CPTPP”

อังกฤษเล็งตลาดใหญ่เอเชีย-แปซิฟิก จ่อเจรจาเข้าเขตการค้าเสรี CPTPP

ครม.รับทราบรายงาน กมธ.CPTPP มอบ “ดอน” ถกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP