ผลวิจัยชี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษได้

07 ก.พ. 2564 | 03:53 น.

วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ได้ แต่ประสิทธิภาพจะลดลงสำหรับสายพันธุ์แอฟริกา

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลใหม่ที่มีการเปิดเผยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ (5 ก.พ.) ชี้ว่า วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ ในระดับเดียวกับที่สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดิม

 

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีชื่อว่า B.1.1.7 นั้นมีการกลายพันธุ์เป็นจำนวนมากผิดปกติ และแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม

 

นายแอนดริว โพลลาร์ด หัวหน้าผู้ตรวจสอบการทดลองวัคซีนของ ม. ออกซ์ฟอร์ดเปิดเผยว่า ข้อมูลจากการทดลอง วัคซีน ChAdOx1 หรือที่มีอีกชื่อว่า AZD1222 ในประเทศอังกฤษบ่งชี้ว่า วัคซีนตัวนี้ไม่เพียงป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ยังสามารถป้องกัน B.1.1.7 ซึ่งเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการกลายพันธุ์และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในอังกฤษพุ่งขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563

 

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าใช้ได้ดีในการป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ และพวกเขายังระบุด้วยว่า จากการวิเคราะห์ล่าสุดบ่งชี้ว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า อาจจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้ด้วย

 

นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์เป็นครั้งแรกทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษในเดือนก.ย.2563 และต่อมายังได้พบไวรัสชนิดดังกล่าวในประเทศต่างๆ อย่างน้อย 44 แห่งแล้วทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

 

วัคซีนป้องกันโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีประสิทธิภาพ 76% ในการป้องกันการติดเชื้อ (ชนิดที่มีอาการ) เป็นเวลา 3 เดือนหลังจากฉีดวัคซีน 1 โดส ส่วนผลการวิจัยอีกฉบับบ่งชี้ว่า การแพร่เชื้อโควิด-19 ในอังกฤษ ลดลง 67% หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโดสแรกในอังกฤษ

 

อย่างไรก็ตาม บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยวานนี้ว่า (6ก.พ.) วัคซีนที่บริษัทร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีประสิทธิภาพลดน้อยลงกับผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่มีอาการเล็กๆน้อยๆ

 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส เผยแพร่รายงานระบุผลศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สรันด์ของแอฟริกาใต้และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แห่งประเทศอังกฤษ พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอย่างมากในการป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ 

 

โฆษกของแอสตร้าเซนเนก้า ยอมรับเกี่ยวกับรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทม์ส ว่า ในการทดลองกลุ่มเล็กๆขั้น1และ2 ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ “อย่างจำกัด” กับอาการป่วยเล็กๆน้อยๆส่วนใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ที่มีชื่อเรียกว่า “ B.1.351”

 

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส สื่อใหญ่ของอังกฤษระบุว่า ในบรรดาอาสาสมัครมากกว่า 2,000 คนนั้น ไม่มีใครที่ถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต

 

แอสตร้าเซนเนก้าเชื่อว่าวัคซีนของบริษัท สามารถป้องกันอาการติดเชื้อรุนแรง ด้วยการกระตุ้นแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ลบล้าง (Neutralizing antibody) เทียบเท่ากับวัคซีนโควิด-19 อื่นๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันอาการติดเชื้อรุนแรงได้

 

เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กำลังเตรียมการสำหรับเร่งผลิตวัคซีนเวอร์ชันใหม่ เพื่อต่อสู้กับการปรากฏตัวของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม และมีการค้นพบครั้งแรก ๆในประเทศอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล คาดว่าคณะผู้วิจัยวัคซีนตัวใหม่น่าจะพร้อมสำหรับผลิตส่งมอบวัคซีนในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จักวัคซีน AZD1222 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ไทยเลือกใช้

"แอสตร้าเซนเนก้า" มั่นใจวัคซีนใช้ป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ได้

เปิดหลักฐาน อย.ขึ้นทะเบียน “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”

ครม.ทุ่มงบ 166 ล้านจ่ายค่าภาษีจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส

ฟิลิปปินส์-ไทย ลงนามจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดได้ฉีดกลางปี 64