รื้อ‘ส่งออก’ใหม่ ลดพึ่งบริษัทข้ามชาติ

06 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

เปิดความจริงส่งออกไทย 40 ปี ยืมมือต่างชาติปั้นตัวเลข ปี 63 ล่าสุดกลุ่มส่งออก 100 อันดับแรกกุมชะตาประเทศ ชี้ 3 บริษัทค้าทองไทยติดโผ 10 อันดับแรก ไม่น่าดีใจ จากไม่ได้ช่วยเพิ่มจ้างงาน บิ๊กสภาอุต-สภาหอฯ จี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ลดพึ่งบริษัทข้ามชาติ

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2563 ไทยส่งออกรูปเงินบาท มูลค่ากว่า 7.17 ล้านบาท มีผู้ส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ส่งออกระดับแสนล้านเพียง 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 6.3 แสนล้านบาท ระดับหมื่นล้านบาทมี 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท ขณะผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากที่สุดมีมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวมเพียง 2.96 แสนล้านบาทจะเห็นได้ว่าต่างกันลิบลับ

ค้าทองติดโผ 3 บริษัท

หากเจาะลึกลงไปอีกในกลุ่มผู้ส่งออก 100 อันดับแรก มีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นผลิตส่งออกอยู่ถึง 72 บริษัท มีบริษัทไทย 28 บริษัท แสดงให้เห็นถึงปัจจุบันตัวเลขการส่งออกของไทยในแต่ละปี มีบริษัทข้ามชาติเป็นหัวเรือสำคัญ โดยบริษัทข้ามชาติที่อยู่ใน 10 อันดับแรกได้แก่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด(บจก.), บจก.เอชจีเอสที(ประเทศไทย), บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง, บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย), บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และบจก.เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)

ขณะที่มี 3 บริษัทไทยติดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มผู้ค้าทองคำได้แก่ บจก.วายแอลจี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล(อันดับ 2) บจก.เอ็มทีเอสโกลด์(หรือแม่ทองสุก) (อันดับ 5) และบจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำในตลาดโลกและในประเทศพุ่งสูงในปีที่ผ่านมา

ส่งออกทองพุ่ง

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2563 ไทยส่งออกทองคำแท่งได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ปริมาณ 2.43 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% มูลค่า 4.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 77%) ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีจากผลกระทบโควิด และผลจากสหรัฐฯ และหลายประเทศอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า คนหันมาถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์เพื่อความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ทำให้รอบปีที่ผ่านมาราคาทองยืนในระดับสูง ขณะที่มีเหตุการณ์คลังเก็บเคมีที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอนระเบิดส่งผลให้ราคาทองคำโลกยืนเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และ ส่งผลราคาทองในประเทศไทยขยับสูงสุดที่บาทละ 30,400 บาท (7 ส.ค.63) ทำให้คนแห่มาขายทอง ผู้ค้าต้องระบายสต๊อกออกไปต่างประเทศ

“ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจะอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า คาดปีนี้ราคาทองมีโอกาสขยับขึ้นอีก (จากปัจจุบันอยูที่บาทละ 2.5-2.6 หมื่นบาท) ทำให้โอกาสส่งออกทองปีนี้ก็จะยังขยายตัวได้อีก”

รถลุ้นคืนฟอร์ม

สวนทางกับอุตสาหกรรมรถยนต์ปีที่ผ่านมาค่ายโตโยต้า(ผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปี 2562 ได้หล่นไปอยู่อันดับ 4) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจ กำลังซื้อทั่วโลกลดลงส่งผลปีที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ได้ 735,842 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.05 ล้านคัน หรือหายไป 318,261 คัน หรือลดลง 30% มูลค่าส่งออก 6.80 แสนล้านบาท ลดลงถึง 21% จากปี 2562 มีมูลค่าส่งออก 8.59 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 7.5 แสนคัน ซึ่งยังต้องลุ้น


ส่งออกไทยปี 2563

จี้ปรับโครงสร้างใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่มีบริษัทค้าทอง 3 บริษัทของไทยติด 10 อันดับแรกของบริษัทส่งออก โดนที่ซื้อหรือนำเข้าทองคำเข้ามา และส่งออกไปโดยอาศัยส่วนต่างราคาในการสร้างผลกำไร ไม่ได้เกิดการจ้างงาน และไม่ได้เกิดภาคการผลิตที่แท้จริง ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย ณ ปัจจุบันประเมินว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ผลที่ตกกับประเทศส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค่าแรงและการจ้างงานที่ถือว่าไม่มาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ

“ผ่านมา 40 ปีไทยยังพึ่งพาภาคการส่งออกสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี ถือมีความเสี่ยงส่งออกไทยอาจลดลงหากบริษัทต่างชาติลดการลงทุนหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องหันพึ่งพาตัวเองจากตลาดหรือการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ต้องตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปีข้างหน้าจะลดการพึ่งพาการส่งออกลงเหลือเท่าไหร่ ซึ่งสัดส่วนที่ดีที่สุดคือการพึ่งพาการส่งออกกับการบริโภคภายใน 50:50 จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงแข็งแรง และจะสามารถลดแรงเสียดทานปัญหาการค้าระหว่างประเทศได้ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า ถูกตัดจีเอสพี เรื่องค่าเงินบาท”

หอการค้าฯชี้ทางออก

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่มูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ของไทยมาจากบริษัทข้ามชาติ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลโปรโมตให้ต่างชาติมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ซึ่งนอกจากไทยได้เรื่องการจ้างงานแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการต้นทุน เรื่องการตลาด การออกแบบดีไซน์ การได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ที่ผ่านมาไทยยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทที่มาลงทุนน้อย จากนี้เงื่อนไขลงทุนอาจต้องบังคับให้เขาถ่านทอดเทคโนโลยีด้วย

“เวลานี้ก็มีบริษัทไทยเก่งๆ เช่น ซีพี ไทยยูเนี่ยน เบทาโกร เอสซีจี ปตท.ต่างก็เป็นบริษัทระดับโลก แต่สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างแบรนด์ให้กับสินค้า

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดชื่ออีก ใคร ? ผู้ส่งออก 100 อันดับแรกของไทย

รู้แล้วจะอึ้ง ! ใครผู้ส่งออก 50 อันดับแรกของไทย

ส่งออกขานรับ ‘ไบเดน’ มั่นใจโตกว่ายุค‘ทรัมป์’

“กรอ.พาณิชย์”เคาะส่งออกปีนี้ ขยายตัว4%

3 บริษัทค้าทองผู้ส่งออก แซงโปรดักส์แชมป์เปี้ยน