เยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องไม่ชักช้า

04 ก.พ. 2564 | 12:00 น.

เยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องไม่ชักช้า : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3650 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.2564

 

การประชุมครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ยังไม่มีการออกมาตรการหรือกำหนดแนวทางการเยียวผลกระทบโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือลูกจ้างพนักงานบริษัทโดยทั่วไปที่มีจำนวน 11 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ควรได้รับการเยียวยาผลกระทบ แม้ไม่อาจชดเชยได้ทั้งหมด แต่บางส่วนต้องหยุดงานชั่วคราว หรือถูกลดเงินเดือน เงินได้ จากการที่กิจการประสบปัญหาจากโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกแต่เพียงว่ามอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณไปพิจารณาเรื่องนี้และจะมีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาเป็นระยะๆ เก็บตกในการดูแลในทุกภาคส่วน ในทำนองพยายามดูแลทุกฝ่ายให้ทั่วถึง

ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กำลังหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาวงเงินและรูปแบบการใช้จ่าย มีความเป็นไปได้ที่อาจใช้รูปแบบเดียวกับโครงการ เราชนะ โดยยึดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์จากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ได้มีการลดภาระผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 โดยลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในส่วนลูกจ้างเหลือร้อยละ 0.5% ตั้งแต่ ก.พ.-มี.ค. 64 จากเดิม 3% ส่วนการว่างงานจากจากการถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมได้เพียง 50 %ปีละไม่เกิน 180 วัน

การว่างงานจากเหตุสุดวิสัย กรณีทางราชการสั่งปิดพื้นที่ฯ หรือหยุดการปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆอันเนื่องมาจากสถานการณ์ จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน การหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
 

เราเห็นว่ารัฐบาลต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างผู้ประกันตนเป็นการเร่งด่วน โดยไม่ชักช้า โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบมาตรา 33 ในส่วนของกลุ่มผู้รายได้น้อยมาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แทบจะมากไปกว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระด้วยซํ้าในบางราย โดยอาจพิจารณาแนวทางเยียวยาในรูปแบบอื่นหากไม่ทำในรูปเงินเยียวยาโดยตรง เพื่อประคับประคองไม่ให้ผลกระทบไปกดภาระค่าครองชีพของทั้งตัวลูกจ้างและครอบครัวจนไม่อาจแบกรับไหว