“ธนาธร” ขึ้นศาลนัดไต่สวนปมไลฟ์สด "วัคซีนโควิด"

04 ก.พ. 2564 | 04:05 น.

 “ธนาธร” ขึ้นศาลไต่สวนเพิกถอนคำสั่ง ดีอีเอส ขอระงับเผยเเพร่ข้อมูลไลฟ์สด "วัคซีนโควิด" มั่นใจพูดโดยสุจริต

4 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางเข้าฟังนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านของคณะก้าวหน้า ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลสั่งลบลิงก์ตามคำขอ กระทรวงดิจิตอลฯ (MDES) การเผยแพร่ภาพ-คลิปเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดพาดพิงสถาบันฯ ผ่านเพจคณะก้าวหน้า

 

นายธนาธร เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในวันนี้ ตนมาที่ศาลเพื่อขอคัดค้านใบคำสั่งจากกระทรวงดิจิตอลฯที่ขอให้ ปลดการไลฟ์เฟซบุ๊ก ทั้งในช่องทางเฟซบุ๊ก ยูทูป เมื่อถามว่า ส่วนตัวคิดว่าการตั้งคำถามในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันสามารถใช้หลักการวิจารณ์สุจริตกล่าวอ้างต่อศาลได้หรือไม่ นายธนาธร กล่าวว่า ตนเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองล้วนเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ  สถาบันก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ดังนั้นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต โดยไม่ว่าร้ายพยาบาท เพื่อหวังดีต่อสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงกระทำได้

 

เมื่อถามว่าคิดว่า ศาลจะใช้ดุลยพินิจที่ครอบคลุมถึงหลักการข้างต้นด้วยหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า อันนี้ตนคงก้าวล่วงศาลไม่ได้ เพราะเห็นว่าสิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลให้คนไทย เป็นสิ่งที่พวกเราทำด้วยความประสงค์ดี ก็หวังว่าศาลคงจะเข้าใจ ตนคงไม่ไปก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาล ต่อข้อซักถามว่าจนถึงตอนนี้แล้วมองว่าขอบเขตความผิด ม.112 ในประเทศไทย มีความต่างจากประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง นายธนาธร กล่าวว่า ใน ม.112 เป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะสิทธิสิทธิมนุษยชนนั้นคือการมีเสรีภาพทางการแสดงออก และม.112 มีโทษที่สูงเกินไปด้วย จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย ม.112

 

เมื่อถามว่าคิดว่าอะไรเป็นตัวแปรที่ทำให้สัดส่วนโทษทางอาญาของมาตรา 112 ในไทยรุนแรงกว่าชาติอื่น ที่ยังคงมีระบบกษัตริย์ นายธนาธร กล่าวว่า ตรงนี้ตนคงไม่ทราบ ต้องไปถามนักกฎหมาย

 

เมื่อถามว่าในวันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี จะเดินทางมาไปแจ้งความเพิ่มเติม นายธนาธร กล่าวว่า เชิญครับเพราะตนเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจ ขอเรียนพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างนี้ว่าจนถึงวันนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถให้คำสัญญากับประชาชนได้ว่าตกลงวัคซีนที่จัดซื้อจัดหาได้แล้วจะมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เอกสารทางราชการก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการหาวัคซีนให้คนไทยล่าช้าไป 1 เดือน ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้านบาท อย่าลืมว่าเมื่อไม่นานมานี้เองรัฐบาลยังยืนยันว่าจะฉีดวัคซีน 50% ให้กับคนไทยภายใน 3 ปี แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้เอง

 

เมื่อมีการตั้งคำถามจากประชาชนที่ต้องการเห็นการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยได้อย่างเร็วที่สุด ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องกลยุทธ์การจัดซื้อหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยเป็นสิ่งที่พึงกระทำและตนอยากจะเห็นรัฐบาลให้คำสัญญาที่ชัดเจนว่าตกลงจะฉีดวัคซีนให้กับคนไทยได้จำนวนมากเท่าไหร่ในเวลาเท่าใด

 

ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน คนที่หาเช้ากินค่ำ คนที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่มีประกันสังคม ไม่มีความมั่นคงในชีวิตรอนานเป็นปีไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้วอย่างอิสระเอลตั้งเป้าว่าจะฉีด วัคซีนให้ครบ 100% ให้ครบจำนวนประชากรในไตรมาสที่ 1 และวันนี้อังกฤษฉีดไปแล้ว 10 %  อเมริกา 6-7 % ประเทศอินโดนีเซียก็เริ่มฉีดแล้ว ตนจึงเป็นกังวลเรื่องนี้ การมีวัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เราฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในสังคมไม่ได้ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด

 

ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ระบุว่า วันนี้เตรียมพยานหลักฐานมาพอสมควร แต่ต้องรอดูพยานหลักฐานฝั่งผู้กล่าวหาก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่มองว่าเรื่องนี้ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก็ได้ เพราะเจตนาของนายธนาธรคือต้องการจะปกป้องประชาชนจากนโยบายที่อาจจะผิดพลาดของรัฐบาล

 

"ผมไม่รู้ว่าจะใช้เวลาไต่สวนนานเท่าไหร่ แต่ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ สิ่งที่พูดไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อปกป้องภาษีของประชาชน การสั่งซื้อวัคซีนจากแอสทราเซเนก้า เป็นเงินที่มาจากประชาชน ใช้ภาษีของประชาชน ดังนั้นการตรวจสอบการใช้เงินย่อมเป็นเรื่องที่พลเมืองพึงที่จะกระทำได้" นายธนาธร กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดนแล้ว! ศาลสั่งปิดกั้น-ลบโพสต์ คณะก้าวหน้า ปม “ธนาธร” ไลฟ์วัคซีนโควิด

“ธนาธร”โต้รัฐบาลยันวิจารณ์วัคซีนโควิดตรวจสอบภาษีประชาชน

'ธนาธร'ไม่หวั่น ม.112 จี้เปิดเอกสาร "สยามไบโอไซเอนซ์"

“ดีอีเอส-ทศพล-แรมโบ้”แจ้งความเอาผิด“ธนาธร” ม.112 ปมพาดพิงสถาบัน

“แรมโบ้”เล็งดำเนินคดี"ธนาธร"ความผิดม.112-พรบ.คอมฯ