ทุนน้ำเมาโอด ตกเป็น “แพะ”  ห้ามขายทุกช่องทาง

07 ก.พ. 2564 | 04:00 น.

ทุนนํ้าเมาครวญ รัฐไม่เหลียวแล ไร้การเยียวยา หลังคลายล็อกดาวน์ แต่ยังถูกห้ามขายทุกช่องทาง โอดแม้แต่โซนสีเขียวก็ไม่ผ่อนปรน เตรียมรวมตัวบุกสรรพสามิตขอภาษีคืน ขณะที่โฆษกฯเบรกห้ามแบ่งบรรจุขวดขาย และแบ่งจ่ายภาษี

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้วันนี้ภาครัฐจะคลายล็อกภัตตาคาร ร้านอาหาร ให้นั่งรับประทานได้ไม่เกิน 23.00 น. จากเดิมที่จำกัดเวลาไม่เกิน 21.00 น. แต่ยังคงงดดื่มสุราในร้าน การจัดประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ต้องไม่เกิน 100 คน และงดดื่มสุราและการแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมคนไทยเมื่อเข้าไปใช้บริการในภัตตาคาร ร้านอาหารพบว่า ลูกค้า 70-80% จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เบียร์, ไวน์, สุรา ฯลฯ ดังนั้นเมื่อร้านอาหาร ได้รับการผ่อนปรนให้ขยายเวลาได้ถึง 23.00 น. ก็ควรเปิดกว้างให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน ซึ่งภัตตาคารและร้านอาหารเหล่านี้ก็มีมาตรการเฝ้าระวังเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่าง ถือเป็นมาตรการที่ลดความเสี่ยง ดีกว่าการจำกัดสถานที่ดื่ม ทำให้ผู้บริโภคหันไปจับกลุ่มซุ่มดื่มตามที่พักอาศัย ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดสูงกว่า

“วันนี้แม้จะมีการจัดแบ่งโซนผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆ ในโซนสีเขียว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 7 วันหรือมากกว่า7 วัน ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้ ถือเป็นการปิดกั้นทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าได้ จึงอยากวอนให้ผู้มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

รวมถึงการยกเลิกหรือผ่อนปรนให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการสร้างยอดขายเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการถูกจำกัดการขายในทุกด้าน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ตลอดจนพนักงาน และผู้เกี่ยวข้องรอบด้านมากกว่า 1 ล้านคน

ด้านนายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟต์เบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดครั้งที่ 1 สถานบันเทิงกลางคืนเป็นธุรกิจแรกที่ถูกสั่งปิด และเป็นธุรกิจสุดท้ายที่ได้กลับมาเปิดบริการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเป็นผู้ร้าย มีอะไรขึ้นมาก็เป็นแพะ โควิดไม่ได้แพร่ระบาดจากการดื่ม แต่แพร่ระบาดจากการมั่วสุม ดังนั้นต่อให้มีคำสั่งปิดร้าน แต่ประชาชนก็จับกลุ่มมั่วสุมกันได้อยู่ดี

อย่างไรก็ดีสมาคมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีการเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เช่น ขอผ่อนผันให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านและนั่งดื่มในร้านได้ต่อศูนย์ดำรงธรรม แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม “เททิ้งความเที่ยงธรรม” พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง เพื่อให้ผ่อนปรนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ มีการเว้นระยะห่างของลูกค้าตามมาตรการรัฐ, ไม่มีการแชร์แก้วเครื่องดื่มเด็ดขาด และไม่ให้มีการลุกขึ้นเต้นในร้าน

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้า สมาคมจะเข้ายื่นหนังสือพิจารณาขอคืนภาษีจากกรมสรรพสามิต พราะผู้ประกอบการต้องแบกรับภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ไม่ว่าช่องทางใด ส่งผลให้สินค้าโดยเฉพาะเบียร์สด เสื่อมสภาพเพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงเจ้าของสถานบันเทิง พนักงานในร้าน และนักดนตรี ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผ่อนปรนหรือเยียวยาใดๆจากรัฐบาลเลย

ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวถึงข้อเรียกร้องของสมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้านได้นั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่ห้ามเปลี่ยนแปลงภาชนะสุราเพื่อการค้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งหากร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุได้อย่างอิสระ นอกโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ อาจทำให้เบียร์สดดังกล่าวเกิดปัญหาการปนเปื้อนรวมถึงคุณภาพของเบียร์สดอาจจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะ

ส่วนการอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีเป็นงวดๆ จะเกิดความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บภาษีในภายหลัง เนื่องจากมีการนำสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษีออกไปจำหน่าย ส่งผลให้การควบคุม ติดตามสินค้าดังกล่าวให้มาชำระภาษีจะดำเนินการได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบริโภคต่างๆ รวมถึงคราฟต์เบียร์ด้วย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ให้อำนาจกรมศุลกากรในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้านำเข้าแทนกรมสรรพสามิต จึงเป็นการชำระภาษีในคราวเดียวกับอากรศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564