หนุนพลาสติกรีไซเคิลดันยุทธศาสตร์ BCG

11 ก.พ. 2564 | 03:00 น.

การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด 3R คือ การลดการใช้ (Reduce) การเพิ่มการใช้ซํ้า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่นำมาสู่การหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ของโลก 

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯพร้อมให้ความร่วมมือ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือ BCG โมเดลของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และ เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

โดยมูลนิธิฯ มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมแนวความคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนานวัตกรรมตาม หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณขยะ ทั้งนี้ เชื่อว่า พลาสติกรีไซเคิล เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทย  ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีความพร้อมในการประสานงานกับ™หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด 

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคด

 

จากการที่มูลนิธิฯได้มีการทำงานร่วมกันกับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิล ทำให้ทราบว่า ในประเทศไทยมีเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วมีปริมาณราว  20,000 ตันต่อปี โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นการผลิต rPET ของผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถผลิต rPET สำหรับฟู้ดเกรดและไฟเบอร์เกรด  แต่ rPET ฟู้ดเกรดทั้งหมดไม่ได้ถูก นำกลับไปใช้หมุนเวียน ในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดและบรรจุภัณฑ์อาหาร แม้กระบวนการผลิต rPET ในประเทศไทยจะผ่าน มาตรฐานรับรองคุณภาพระดับโลกทั้งจากยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใช้ rPET มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้ คือ ข้อติดขัดทางกฎหมายที่ว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”  ทำให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรีไซเคิลต้องส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลฟู้ดเกรดที่ผลิตได้ทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม  

หนุนพลาสติกรีไซเคิลดันยุทธศาสตร์ BCG

ทั้งนี้ การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยกฎหมายอนุญาตให้ใช้เฉพาะเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้เองส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งจากการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศประมาณปีละ 300,000 ตัน  นั่นหมายความว่า จะยังคงมีขยะพลาสติกที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดเครื่องดื่มปริมาณมหาศาลทุก ๆ ปี แม้ว่าส่วนหนึ่งของพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะถูก นำกลับไปรีไซเคิล ได้เพราะมีการร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้กลับถูก นำไปหมุนเวียน ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีการบริโภคพลาสติกน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  

หนุนพลาสติกรีไซเคิลดันยุทธศาสตร์ BCG

ดังนั้น หากไทยสามารถ หมุนเวียนใช้พลาสติก ในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ก็เท่ากับสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ลงได้เช่นกัน  มูลนิธิ 3R เชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ประเทศไทยอาจเร่งให้เกิดการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อปลดล็อกอุปสรรคซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในแนวทางที่สอดคล้องกับโรดแมปการจัดการขยะของรัฐบาลเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย BCG โมเดล

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564