"เยียวยากลุ่มเปราะบาง" ชวดรับสิทธิ์ "เราชนะ" พม.ปล่อยกู้ 1 หมื่น ปลอดดอก-ไม่มีคนค้ำ

01 ก.พ. 2564 | 10:16 น.

เยียวยาโควิดกลุ่มเปราะบาง เร่งปรับเงื่อนไข-ขยายเวลา "กองทุนกู้ยืมฉุกเฉิน" ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีคนค้ำ วงเงิน 1 หมื่นบาท พร้อมแนะแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ไม่ได้รับสิทธิ"ลงทะเบียนเราชนะ"ผ่าน www.เราชนะ.com

หลังจากรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาโครงการต่างๆออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดคือการ"ลงทะเบียนเราชนะ" ผ่าน www.เราชนะ.com เพื่อช่วยเหลือบรรเทาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามในกลุ่มเปราะบาง (คนพิการ ผู้สูงอายุ) บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาดังกล่าวของรัฐฯได้


ในส่วนของหน่วยงานที่กำกับดูแลรับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์เราชนะ โดยประกอบไปด้วย 3 แนวทางด้วยกัน


1. ประเมินครอบครัวเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการตามภารกิจกระทรวง พม. อาทิ เงินสงเคราะห์  เงินทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น (เงินสงเคราะห์จะให้1,000-3,000 บาท โดยจะให้เพียงครั้งเดียว และใช้เวลาพิจารณา 4-6 เดือน เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ประสบปัญหาในพื้นที่) 


2.เสริมพลัง สร้างความเข้าใจ และแนะนำทางเลือกของครอบครัวสำหรับการมีรายได้ และอาชีพ 


3. ติดตามการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถรับสิทธิ์ในโครงการเราชนะ 


กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิลงทะเบียนเราชนะ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ทุกจังหวัด  หรือติดต่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

 

แนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางรับสิทธิเราชนะ
 

นอกจากนั้นแล้ว กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพม.ก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเงินกู้ยืมฉุกเฉินเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งกระทรวงฯได้เตรียมงบประมาณไว้ 1,000 ล้านบาท หรือตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาขอกู้ประมาณ 1 แสนคน  

 

นาย ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภท เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มเปราะบางมาขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อประกอบอาชีพประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มฯจะขอให้หน่วยงานขยายระยะเวลาจากเดิมที่จะสิ้นสุดปลายเดือนมีนาคมนี้ ให้สามารถยืดออกไปอีก เนื่องจากยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในระลอกใหม่ นอกจากนั้นแล้วในแง่เงื่อนไขบางอย่างก็อยากให้ปรับแก้ให้มีกระบวนการที่รวดเร็วขึ้น 


ทั้งนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อประกอบอาชีพ (คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ) สามารถยื่นขอได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2564 โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 


เงื่อนไข -รายละเอียด


- วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย


- ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน


 - เปิดให้บริการยื่นกู้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564


คุณสมบัติผู้กู้


- มีบัตรคนพิการหรือเป็นผู้ดูแลคนพิการ


- ต้องบรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป)


- มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอนไม่น้อยกว่า 90 วัน และมีสถานที่ประกอบอาชีพอยู่ในท้องที่ที่ยื่นกู้ สามารถติดต่อได้


- ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท


- ต้องไม่มีประวัติเสียหาย ไม่มีหนี้ค้างกับกองทุน หรือชำระหนี้คืนกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ทั้งหมด และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด


- ต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (COVID-19)

 

เอกสารใช้ในการขอกู้


- บัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวคนพิการ (สำเนา/ตัวจริง)


- ทะเบียนบ้าน (สำเนา/ตัวจริง)

- รายละเอียด/วัตถุประสงค์ในการขอกู้ยืมเงิน


- แผนที่เดินทางไปที่อยู่อาศัยประจำ และสถานที่ประกอบอาชีพ โดยละเอียดอย่างละ 1 แผ่น


- สัญญาเช่าหรือหนังสือรับรองการอยู่อาศัยในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ยืม


-สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ระบุชื่อผู้ขอกู้)

 

** กรณีที่ผู้ดูแลคนพิการใช้สิทธิ์ในการขอกู้ยืมเงินแทนคนพิการ ต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ดูแลคนพิการ เช่น


- ชื่อผู้ดูแลที่อยู่บนบัตรคนพิการ หรือ


- หนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลหรืออุปการะคนพิการ


 - เอกสารใบรับรองความเห็นของแพทย์ของคนพิการที่มีสภาพถึงขั้นไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ต้องดูแลและอุปการะคนพิการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

ยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อประกอบอาชีพ

 

ทั้งนี้การยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาผู้ขอกู้ยืมเงินสามารถยื่นเอกสารดังกล่าวภายหลังจากการลงทะเบียนและการประเมินเกณฑ์เบื้องต้นว่า ผ่านการพิจารณาโดยสามารถยื่นเอกสารดังกล่าวได้ ในพื้นที่ที่ยื่นขอกู้ในระบบ

 

สำหรับการพิจารณาประกอบไปด้วย


- การพิจารณาเป็นไปตามระเบียบฯ และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมกำหนด


- หากข้อมูลของท่านไม่ถูกต้อง/ไม่ครบถ้วน จะไม่ได้รับการพิจารณา

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ efund.dep.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02-106-9300 , 02-106-9337 ถึง 40 (ในเวลาทำการ) หรือ หรือสายด่วน 1479 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 3 แนวทางช่วย"กลุ่มเปราะบาง" ไม่ได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเราชนะ.com

เช็กด่วน เยียวยากลุ่มเปราะบาง "ลงทะเบียนเราชนะ.com" พ่วงสิทธิ์สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย

เยียวยากลุ่มเปราะบาง “เราชนะ-สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย” ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ เช็กรายละเอียดได้ที่นี่