“แรมโบ้”ฉะ“วัชระ”เล็งให้ฝ่ายก.ม.ดำเนินคดีพาดพิง“อาจารย์น้อง”เสียหาย

31 ม.ค. 2564 | 04:10 น.

“แรมโบ้”ฉะ“วัชระ” เล็งให้ฝ่ายก.ม.ดำเนินคดีพาดพิง “อาจารย์น้อง” เสียหาย ยันตั้ง “ธรรมนัส-นฤมล”สอบเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ เหตุนายกฯให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนทุกกลุ่ม และไม่ได้หักหน้าใคร พล.อ.ประวิตร

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกคณะกรรมการแก้ไขปัญหากลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ กล่าวถึงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ข้องใจที่นายกฯ แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน สอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ทำให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เสียหน้าเพราะไฟเขียวโครงการนี้ ว่า สิ่งที่นายวัชระ พูดมานั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร 

 

เพราะโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นให้เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น และได้มอบให้ ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งนี้ 

แต่เมื่อพบว่าประชาชนมีความเห็นขัดแย้งกันและมีความเคลือบแคลงในขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลแก้ไขความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ และการที่ได้แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล นั้นก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน อีกทั้งยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าว
      

 “นายวัชระ ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าเมื่อมีมาประชาชนเดินทางมาร้องคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอให้มีการทบทวน เริ่มกระบวนการตามขั้นตอนใหม่ และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนายกฯ จึงมอบให้รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ รับไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดดังกล่าว พล.อ.ประวิตร จึงได้มอบให้ฝ่ายเลขาฯ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียกร่างคำสั่งและเสนอ ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานกรรมการดำเนินการเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคแก้ไขข้อขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในโครงการต่อไป เพราะในโครงการดังกล่าวมีประชาชนสองฝ่ายทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านจึงจำเป็นต้องหาข้อยุติให้ได้


     นายวัชระ คงไม่เข้าใจว่าเป็นการเสนอนายกฯ ลงนามแต่งตั้งมาจากการพิจารณาของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ พิจารณาเสนอขึ้นมา และไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งรมช.มาหักหน้ารองนายกฯ ตามที่นายวัชระ กล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีที่ไม่สมควร ขอนายวัชระ อย่าทำตัวนิสัยประเภทจับแพะชนแกะ ประเดี๋ยว นายวัชระ จะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ไปในที่สุดเสียเอง


“อยากให้นายวัชระ ทราบว่าในการทำงานของนายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนในทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนทุกคน โดยจะไม่ปล่อยผ่านไป ทั้งนี้นายกฯ ยังไม่ได้มองว่าใครเป็นผู้อนุมัติ เพราะเป็นการทำเพื่อประชาชน และตนเองมั่นใจว่านายกฯไม่ได้คิดถึงเรื่องความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจใคร  รัฐบาลทำงานเป็นเอกภาพดี และนายกฯก็คิดถึงแต่เรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น 

 

ขณะเดียวกันนายวัชระ อย่าใช้นิสัยพาดถึงครอบครัวนายกฯ ไม่ควรที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงถึงบุคคลอื่นโดยไม่รู้ไม่เห็นไม่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอาจารย์น้อง รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยาของนายกฯ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น และอาจารย์น้องกับอาจารย์แหม่ม ก็ไม่ได้สนิทสนมกันตามที่ นายวัชระ กล่าวหาเพื่อให้เกิดความเสียหาย  


“ผมรู้ดีว่างานนี้ นายวัชระ คงรับงานใครมาพูด อาจพอเดาออกได้ แต่การที่นายวัชระ กล่าวหาใส่ความอาจารย์น้อง และเอา ดร.นฤมล มาโยงกับอาจารย์น้อง ว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นเพื่อนกัน เพื่อจะโยงให้เกิดความเสียหายและเกี่ยวข้องกับปัญหาในโครงการดังกล่าว ถือว่าเป็นกล่าวหาที่ใช้ไม่ได้เลวร้ายมาก คงต้องให้ฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบหาแนวทางดำเนินคดีกับนายวัชระ เพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้ไปก้าวก่ายบุคคลอื่น หรือไปพาดพิงคนที่ไม่รู้ไม่เห็นไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป และจะได้ไม่ไปเที่ยวกัดเที่ยวงับคนอื่นๆ เขาไปทั่ว ทำตัวเหมือนยังกับสุนัขบ้า" นายสุภรณ์ ระบุ

 

ก่อนหน้านี้ นายวัชระ ออกมากล่าวว่า รู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรี กล้าลงนามแต่งตั้ง ร.อ.ธรรมมนัส มาเป็นประธานสอบ เพราะโครงการนี้เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลคสช. สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ผ่านการอนุมัติจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว และที่สำคัญคือโครงการผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ “กพต.”ตามพ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาถึง 3 รอบแล้ว

 

อำนาจหน้าที่ของกรรมการที่นายกรัฐมนตรีให้กรอบไว้ก็ผ่านการพิจารณาจาก กพต.มาทั้งหมดแล้ว หากจะมีการตรวจสอบทบทวนซ้ำก็เป็นเรื่องที่ดียิ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยไปตรวจสอบรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือว่านายกรัฐมนตรีไม่ไว้วางใจการทำงานของ พล.อ.ประวิตร ผู้เป็นพี่ใหญ่แห่งพยัคฆ์บูรพาแล้วหรือ หากรู้ไปถึงไหน พล.อ.ประวิตร ก็เสียหน้าถึงนั่น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงควรต้องทบทวนคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว เพราะไม่เป็นคุณต่อความมั่นคงของรัฐบาล ในขณะที่กำลังจะเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน และก่อนหน้านี้ก็ทราบกันโดยทั่วไปว่า ร.อ.ธรรมมนัส เคยลงไปกิน นอน ที่ จ.สงขลา ช่วงก่อนเลือกตั้งนายกอบจ.มาแล้ว 


ส่วนนางนฤมล ซึ่งเป็นรองประธาน นอกจากเป็นเพื่อนอาจารย์น้องภริยาของพล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะมีองค์ความรู้ที่จะไปแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ หากจะตั้งกรรมการในเรื่องนี้จริงๆ ก็ควรรีบเปลี่ยนตัวประธานและรองประธาน อย่าให้รองนายกรัฐมนตรีน้อยใจ ปัญหาอื่นๆ ที่คาดไม่ถึงอาจติดตามมาได้