ปัจจัยเสี่ยง ยังรุมเร้าจีดีพี

31 ม.ค. 2564 | 03:00 น.

ปัจจัยเสี่ยง ยังรุมเร้าจีดีพี : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 หน้า 6 วันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. 2564

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลให้หลายสำนักออกมาประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของปี 2564 กันใหม่ จากเมื่อช่วงปลายปี 2563 ประมาณการว่าจีดีพีหรือภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ราว 4%
 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาคาดการณ์ จีดีพีปีนี้ จะปรับลงเหลือ 2.2% จากเดิมอยู่ที่ 3.8% สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาด ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลดลงเหลือ 3.7 ล้านคนจากเดิม 8.5 ล้านคน และเป็นการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี
 

การส่งออกมีแนวโน้มชะลอกว่าคาดในช่วงครึ่งแรก ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแข็งค่าของเงินบาท คาดมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.0% ในปีนี้จากเดิม 4.7% และการระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซํ้าเติมปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ก่อนหน้า


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ประเมินว่าจีดีพีของประเทศปีนี้ มีโอกาสจะขยายตัวที่ประมาณ 2-3% จากปีก่อนที่อาจติดลบราว 7-8% ที่มีความคาดหวังมาจากภาคการส่งออกโดยเฉพาะการเติบโตในตลาดหลักในสหรัฐอเมริกา  จีน และญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการจากไทยมากขึ้น และส่งผลให้การส่งออกจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-6% จากปีก่อนที่ติดลบ 6% และภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาได้ในช่วงปลายปีนี้ และประมาณปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังรุมเร้าอีกมาก ที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ภัยแล้ง จากระดับนํ้าในเขื่อนที่ยังอยู่ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
 

ดังนั้น การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศให้กระเตื้องขึ้นกว่าที่ประมาณการได้ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งอัดฉีดงบต่างๆ ออกมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปีนี้เดินไปให้ได้ และอาจจะต้องใช้มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังสามารถนำงบที่มีอยู่ราว 6.4 แสนล้านบาท เป็นในส่วนของพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เหลืออยู่ราว 5 แสนล้านบาท และงบกลางอีก 1.4 แสนล้านบาท มาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ และอาจจะต้องหางบมาใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกเป็นระลอก เพื่อชดเชยความเสียหายในกิจการที่ได้รับผลกระทบด้วย