ขยายเวลาเสียภาษีชุดใหญ่ “ใครได้ประโยชน์” ครับลุง

30 ม.ค. 2564 | 02:30 น.

ขยายเวลาเสียภาษีชุดใหญ่ “ใครได้ประโยชน์” ครับลุง! : คอลัมน์ห้ามเขียน หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. 2564 โดย...พรานบุญ

 

   มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่อนุมัติมาตรการขยายเวลาการเสียภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 3 รูปแบบ เพื่อช่วยเติมเม็ดเงินในกระเป๋าไว้ใช้จ่ายในภาวะวิกฤติซ
 

   1. ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2563 ที่จะยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตออกไปจากเดิม ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยให้เลื่อนการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบรายการที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
 

   2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือน ก.พ. 2564 ถึงเดือนมิ.ย. 2564 เฉพาะแบบฯ ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
 

   3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30 แบบ ภ.พ. 36) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนก.พ. 2564 ถึงเดือนมิ.ย. 2564 เฉพาะแบบฯที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต

   มีคำถามว่าทั้ง 3 มตราการนั้นจะช่วยเหลือและเติมเงินในกระเป๋าชั่วคราวให้ใครได้บ้าง เราจะพาไปดู...
 

   ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2563 ที่จะยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตออกไปจากเดิม ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยให้เลื่อนการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบรายการที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต คาดว่าจะช่วยให้บุคคลธรรมดาที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตกว่า 10.3 ล้านคน
 

   กรมสรรพากรคาดว่า มาตรการขยายระยะเวลาการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนในระบบประมาณ 10,600 ล้านบาท
 

   ขณะที่การขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการที่ยื่นแบบฯภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเดิมภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต้องนำส่งทุกวันที่ 7 ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่ายต้องนำส่งใน 7 วันนับตั้งแต่มีการจ่าย มาเป็นทุกวันสิ้นเดือนนั้นคาดว่า จะช่วยผู้ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้กว่า 5.1 แสนราย มาตรการนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการประมาณ 255,100 ล้านบาท
 

   คำถามต่อมาคือ ใครจะได้ประโยชน์จากมาตรการขยายระยะเวลาการในการจ่ายภาษีออกไป 3-5 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 

   จากการสืบค้นข้อมูลจากกรมสรรพากรพบว่า ตั้งแต่ปี 2561-2562 สามารถขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 10% จากก่อนหน้าที่มีผู้เสียภาษีแค่ 10 ล้านคน
 

   ส่วนรายได้หลักของกรมสรรพากรนั้น มาจากภาษีบุคคลธรรมดาเฉพาะยื่นแบบอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท
 

   ส่วนต่อมาที่เป็นรายได้สำคัญ มาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดภาษีทันทีจากผู้ซื้อซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลจะต้องนำส่งในทุกวันที่ 7 ตกประมาณ 4.4 แสนล้านบาท
 

   ในสิ้นปี 2562 มีประชาชนผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรูปแบบของ ภ.ง.ด.91 ในปี 2561 ราว 700,000 คน จากจำนวนผู้ยื่นภาษีทั้งหมด 10-11 ล้านคน และเป็นการยื่นเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์กว่า 85% ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับเงินคืนกว่า 3.5 ล้านคน
 

   สำหรับผู้เสียภาษี ภ.ง.ด.90” ซึ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไปที่มีรายได้อื่นเกิดขึ้นนอกเหนือจากรายได้ประจำ เช่น รายได้ค่าจ้าง ทั่วไป รายได้จากค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล รายได้จากการมีทรัพย์สินให้เช่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีกิจการเป็นของตัวเอง รายได้ค่าอาชีพอิสระ ค่ารับเหมาและค่าจ้างของ รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวกนั้น มีอยู่ราว 5-6 ล้านคน...
 

   ประชาชนราว 11.7 ล้านคน นี่แหละคือผู้ได้รับประโยชน์ เพราะจะได้มีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายก่อนจะไปเสียภาษีในเดือนมิถุนายน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงอยู่ว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากที่ได้เสียไปก่อนหน้านี้หรือไม่...ซึ่งในแต่ะปีจะมีคนราว 5-8 แสนคนเท่านั้นที่ได้รับเงินภาษีที่หักไว้คืน ที่เหลือต้องจ่ายเพิ่ม...
 

   คราวนี้มาดูภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ที่กฎหมายประมวลรัษฎากร กำหนดให้มีการหักไว้ในอัตราแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นรายได้จาก ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15

   ถ้าเป็นรายได้จากเงินปันผล ส่วนแบ่งของกำไร รายได้จากกองทุน ให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10
 

   ถ้าเป็นค่าเช่า ค่าเช่าอสังหาริทมทรัพย์ ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5
 

   ถ้าเป็นการรับจ้างทำของ ค่าจ้าง อื่นๆ ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
 

   ล่าสุดกรมสรรพากรได้ออกประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบ e-Withholding tax จะได้รับการลดอัตราภาษีจาก 3% เป็น 2% หากเป็นการยื่นชำระผ่านทาง
 

   อิเลคทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกหักภาษี หรือผู้รับเงิน มีสภาพคล่องรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ การคิดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายเป็นอัตราปรับลดเหลือ 2% นั้น จะเป็นเนื้อภาษีประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นคาดว่า จะมีคนเข้าร่วมประมาณ 20% หรือจะมีเม็ดเงินเหลือในกระเป๋าราว 10,800 ล้านบาท ที่จะเป็นสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
 

   ผู้ได้ประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการขยายเวลาการจ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากที่ต้องนำส่งใน 7 วัน มาเป็นการนำส่งในวันสิ้นเดือนนั้น คาดว่าจะมีนิติบุคคล บุคคลธรรมดาประมาณกว่า 5.1 แสนรายรับอานิสงส์มีเงินที่หักไว้ไปใช้แน่นอน
 

   เพราะตามกฎหมายนั้น ผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องนำส่งเงินที่หักไว้นับตั้งแต่มีการจ่ายเงินจริงแก่สรรพากรหรืออำเภอภายใน 7 วัน เมื่อมีการขยายระยะเวลาออกไปถึงวันสิ้นเดือนของทุกเดือน จนถึงมิถุนายน 2564 จะมีนิติบุคคล บุคคลธรรมดาที่มีการจ้างทำของหรือการจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆมีเงินสดติดมือไว้ใช้จำนวนมากจากที่หักไว้ในแต่ละเดือน
 

   สถิติเงินได้จากภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของกรมสรรพากรบอกไว้เช่นนั้น
 

   เฉพาะเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2550 ภาษีบุคคลธรรมดาที่มีการหัก ณ ที่จ่ายตกประมาณ 1.78 แสนล้านบาท ปี 2551 ตกประมาณ 1.84 แสนล้านบาท ปี 2552 ตกประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ปี 2553 ตกประมาณ 1.91 แสนล้านบาท ปี 2554 ตกประมาณ 2.06 แสนล้านบาท ปี 2555 ตกประมาณ 2.49 แสนล้านบาท และปี 2556 ตกประมาณ 2.72 แสนล้านบาท
 

   สำหรับนิติบุคคลที่หักเงินภาษี ณ ที่จ่ายนั้น ปรากฎว่า ในปี 2550 มีเงินของนิติบุคคลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ราว 8.5 หมื่นล้านบาท ปี 2551 มีเงินถูกหักไว้ราว 9.4 หมื่นล้านบาท ปี 2552 ถูกหักไว้ 9.1 หมื่นล้านบาท ปี 2553 นิติบุคคลถูกหักภาษีไว้ 9.8 หมื่นล้านบาท ปี 2554 มีเงินถูกหักไว้ 1.12 แสนล้านบาท ปี 2555 มีเงินถูกหักไว้ 1.31 แสนล้านบาท ปี2556 มีเงินถูกหัไว้ราว 1.4 แสนล้านบาท
 

   เมื่อมีการขยายเวลาอออกไป นิติบุคคลหรือผู้ว่าจ้างจะได้ประโยชน์ในการนำเงินที่หักไว้และต้องนำส่งสรรพากรภายใน 7 วันมาหมุนใช้ได้อย่างน้อย 29-30 วัน สภาพคล่องที่เคยฝืด ก็หายใจคล่องคอมากขึ้น
 

   มาตรการนี้จึงดีกับผู้ว่าจ้าง เพราะเติมอ๊อกซิเย่นให้ทันที ทว่าบรรดาบุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่รับจ้างทำของ หรือผู้รับเงินจากค่าจ้าง ค่านายหน้า ค่าพิธีกร ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม ค่าสอน บำเหน็จ เงินโบนัส จะต้องเสียเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปก่อน
 

   บรรดาเน็ตไอดอล พริตตี้ ที่รับงานรีวิวสินค้า หรือเป็น นางแบบ พิธีกร ตามงานโชว์ตัว งานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งได้เงินจากผู้จ้างโดยตรง หรือแม้แต่ครูสอนพิเศษที่รับค่าสอนจากโรงเรียนเอกชน นักเขียนที่ทำงานให้กับบริษัทที่ว่าจ้าง ท่านจะยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% หรือ 2% เช่นเดิม
 

   เคลียร์มั้ย ชัดมั้ย จบมั๊ย
 

   แม้จะช่วยแบบนี้แต่ดูเหมือนผู้คน นิติบุคคลในประเทศบอกว่า “ไม่พอ” ขอรับลุง!