ลูกกลิ้งรักษ์โลก “โดฟ” ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายแบบรีฟิล

29 ม.ค. 2564 | 05:20 น.

ท่ามกลาง กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการ “ลด” หรือ “เลิก” การสร้างและทิ้งขยะพลาสติก ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ดำเนินนโยบาย “สีเขียว” จึงเน้น ประหยัดการใช้ทรัพยากรและลดการสร้างขยะ-ของเสีย ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่างพยายามลดการผลิตสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งจะสร้างขยะย่อยสลายยากให้โลกได้เป็นปริมาณมหาศาล

 

หนึ่งในตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าว ได้แก่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกกลิ้งระงับกลิ่นกายภายใต้แบรนด์ “โดฟ” (Dove) ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ที่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายโดฟแบบรีฟิล (refillable deodorant) เป็นครั้งแรก เป้าหมายเพื่อให้มีการนำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ได้อีกเรื่อยๆไม่ใช่การใช้หมดในครั้งเดียวแล้วทิ้งลงถังขยะเลย

 

ลูกกลิ้งรักษ์โลก “โดฟ” ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายแบบรีฟิล

 

โครงการพัฒนาสินค้าดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์กับองค์กร “อะ พลาสติก พลาเน็ต” (A Plastic Planet) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่จะนำมาใช้ในภาคการผลิต เดิมทีบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายโดฟเป็นพลาสติก แต่เมื่อมีการพัฒนาเป็นสินค้าแบบรีฟิล ตัวบรรจุภัณฑ์ซึ่งนำมาใช้แล้วใช้อีกได้หลายครั้งจึงเปลี่ยนไปใช้เหล็กสเตนเลสสตีล ผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวมีจำหน่ายแล้วที่ห้างทาร์เก็ต และวอลล์มาร์ท หลายสาขาทั่วสหรัฐอเมริกา

 

โฆษกของแบรนด์โดฟเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ชิ้นนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบในการผลิตให้น้อยที่สุด และถึงแม้จะยังมีการใช้พลาสติกอยู่บ้าง แต่ก็ใช้พลาสติกน้อยลงราว 54% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์รุ่นใกล้เคียงคือลูกกลิ้งระงับกลิ่นกาย “โดฟ ซีโร สติ๊ก” (Dove Zero Stick) นอกจากนี้ 98% ของพลาสติกที่นำมาใช้ยังเป็นพลาสติกรีไซเคิลอีกด้วย

 

ลูกกลิ้งรักษ์โลก “โดฟ” ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายแบบรีฟิล

 

ทั้งนี้ โดฟเริ่มแผนปฏิบัติการลดการใช้วัตถุดิบและลดการใช้พลาสติกในการผลิตมาตั้งแต่ปี 2563 โดยตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) ให้ได้กว่า 20,500 ตัน/ปี

 

แค่ช่วยกันลดขยะ ก็ช่วยโลกได้ และแค่ช่วยกันใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ก็ช่วยให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายช้าลงและอยู่กับเราได้นานขึ้น รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันให้มากขึ้น...เพื่อโลกของเรา

 

จาก คอลัมน์ Circular Economy ชีวิตดีเริ่มที่เรา นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ลดขยะ'ด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

อาคารนี้ถอดประกอบได้ ใน 3 สัปดาห์

กาตาร์เตรียมผุด “โรงแรมลอยน้ำ” รับบอลโลก 2022 

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน