คลัง เผย ดัชนีความเชื่อมั่น “กรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ต่ำสุดในภูมิภาค เหตุโควิดพ่นพิษ

28 ม.ค. 2564 | 14:45 น.

คลัง ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือน ม.ค.64 เผยเศรษฐกิจชะลอตัวในบางภูมิภาค ขณะที่กรุงเทพฯ –ปริมณฑล ดัชนีต่ำสุด หลังเศรษฐกิจชะลอตัว-โควิด ระบาดหนัก

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า ดัชนี RSI เดือนมกราคม 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในบางภูมิภาค โดยเฉพาะภาคการลงทุนและภาคบริการของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่  ทั้งนี้แนวโน้มความเชื่อมั่นในอนาคตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

คลัง เผย ดัชนีความเชื่อมั่น “กรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ต่ำสุดในภูมิภาค เหตุโควิดพ่นพิษ

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 55.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคการลงทุน เนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวใน ภาคเกษตรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการลงทุนคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น

 

 

ภาคใต้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 53.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น อาทิ เช่น ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย ยางยืด และยางรถยนต์ เป็นตัน

 

 

ภาคตะวันออกดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 52.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ประกอบกับมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

 

ภาคเหนือดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 50.1 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในระดับที่ทรงตัว เนื่องจากเกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงลดพื้นที่การเพาะปลูกลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การกระจายวัคซีนป้องกันโรคอย่างทั่วถึง ยังสร้างความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม

 

 

ภาคกลางดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ 43.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและลดการจ้างงานลง

 

 

ภาคตะวันตกดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ 41.3 สะท้อนถึงการคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นโดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายและทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

 

 

กทม.และปริมณฑลดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 40.7 สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในภาพรวม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019