เปิด 5ธีมจัดพอร์ต ยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง

28 ม.ค. 2564 | 00:25 น.

กสิกรไทยลอมบาร์ดเปิด 5ธีมจัดพอร์ต ยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง -หวังสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้ามั่งคั่ง

กสิกรไทยลอมบาร์ดเปิด 5ธีมจัดพอร์ต ยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง -หวังสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้ามั่งคั่ง แนะพอร์ตหลัก 50% เพิ่มหุ้น30% เก็บสินทรัพย์เสี่ยงพยุงยีลด์รับจังหวะเศรษฐกิจพลิกฟื้น10%ที่เหลืออีก 10ต้องไม่ผันแปรตามไซเคิล- เผยผลตอบแทน 11.4%ภายใต้วิกฤตโควิดปีก่อน 

 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

 

กสิกรไพรเวทแบงก์กิ้งร่วมกับพันธมิตรลอมบาร์ด ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์และดำเนินงานมากว่า 224ปีจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “2021 : Facing Change or More Challenges” โดยนายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2564 มีแนวโน้มสดใส แม้จะมีความท้าทายมากขึ้น  เนื่องจากราคาหุ้นหลายกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา  

 

สำหรับพอร์ต K-Alpha ที่แนะนำลูกค้า ยังคงหลักการของพอร์ตหลัก (Core) และพอร์ตเสริม (Satellite) โดยให้ความสำคัญและน้ำหนักที่มากขึ้นกับกองทุนในกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะสร้างความเติบโตให้กับมูลค่าพอร์ต โดยแบ่งเป็น 5ธีมการลงทุน ได้แก่

 

1. Winner of new economy หรือ ผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ เช่นกลุ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ   

2.Health is Wealth หรือการรักษาสุขภาพคือความมั่งคั่งใหม่ ผ่านการลงทุนกลุ่ม Healthcare และนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั่วโลก

3.Save the World หรือเทรนด์รักษ์โลก ที่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานลม

4.The Rise of China and Asia หรือ สินทรัพย์ในจีนและภูมิภาคเอเชีย ที่จะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น 

5.Laggard and Cyclical Upturn เช่น หุ้นในภูมิภาคหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงในปีที่แล้ว และราคายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งกลุ่มที่ผลประกอบการจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤตโควิดในปีที่ผ่านมา ยังสามารถสร้างการเติบโตให้ลูกค้าที่ระดับ 11.4% ค่าความผันผวนเพียง 7.7%ซึ่งนับว่าความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นโลก และยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนที่สม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง โดยจะพยายามสร้างผลงานให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีก่อน

 

ตรีพล ภูมิสวนะ

 

นายตรีพล ภูมิสวนะ Managing Director- Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงภาพรวมการลงทุน “2021: Investment Strategy” ว่า กลยุทธ์การลงทุนในปี 2564 ธนาคารยังคงเน้นการลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง( Stay Invested Stay Diversified ) พร้อมแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความหลากหลายประเภทเพิ่มขึ้น เพื่อรอเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวภายหลังมาตรการกระตุ้น ทั้งจากนโยบายกการเงินและการคลัง ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงได้รับประโยชน์

 

ส่วนการจัดพอร์ตลงทุนนั้น  ประกอบด้วย  

1.พันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนไม่ดึงดูด แต่เป็นส่วนสำคัญในการรองรับความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งอาจจะล็อคการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกา จีน  

2.หุ้นกู้เอกชน ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นกู้ประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets:EM)   

3.Growth Asset หรือหุ้น กลุ่มMegatrends ที่สำคัญเช่น  Technology ,Health Care เป็นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนก้าวกระโดดในระยะยาว นอกจากนี้ลอมบาร์ดยังให้ความสำคัญหุ้นกลุ่ม CLIC(Circular, Lean, Inclusive ,Clean) หุ้นบริษัทที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนคุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ  เช่น  พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานลม  ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 30%จากเดิมอยู่ที่ 25% ของพอร์ตการลงทุน

4.ทองคำ ซึ่งเป็สินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้ เพราะจะเป็นตัวช่วยพยุงพอร์ตและความผันผวน

5.สินทรัพย์ที่ไม่พึ่งพิงราคาขึ้นลงรายวัน โดยนักลงทุนที่ไม่ต้องการสภาพคล่องและสามารถล็อกระยะเวลาลงทุนได้นานเฉลี่ย 3-5 ปี สามารถลงทุนใน Fixed Maturity Product หรือ FMP ซึ่งเป็นการกระจายในหุ้นกู้ต่างประเทศหลายๆ ประเทศ หรือ Private Debt ตราสารหนี้บริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือ Private Equityหุ้นบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้ง Hedge Fund ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนระยะสั้นและสร้างความมั่นคงให้พอร์ตระยะยาวได้ดี 

 

“กลยุทธ์การลงทุนแบบสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง โดยจะแบ่งสัดส่วนลงทุนในพอร์ตหลัก 50% เป็นการลงทุนระยะยาว อีก 30%ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงพวกหุ้น อีก 10% เป็นพอร์ตที่สร้างผลตอบแทนคงที่ ที่เหลืออีก 10% เป็นการลงทุนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการแปรผันของเศรษฐกิจ”

ศิริพร สุวรรณการ

 

นางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director- Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวกมีการฟื้นตัวได้ดี แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุด แต่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะแตะระดับสูงสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยเศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงหนุนจากการเร่งอนุมัติและแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีประสิทธิภาพควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยประชากรทั่วโลกกำลังทยอยได้รับวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2564 และจะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งด้านการค้าขาย การผลิต และการบริโภค สามารถกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดในที่สุด

 

ขณะที่เศรษฐกิจหลักของโลก อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะฟื้นตัวได้ดี หนุนจากการค้าโลกที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการการคลังของหลายประเทศที่มีขนาดใหญ่ และออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐฯ ที่เน้นออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  โดยล่าสุด คณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ได้เสนอแผน “American Rescue Plan” ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำถึงปี 2566 รวมถึงมีการซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดยังคงสูง โดยมาตรการกระตุ้นในองค์รวมจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการบริโภค

 

จากข้อมูลข้างต้น สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลจาก IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะโตกว่า 5% ในปีนี้ จากที่หดตัวมากกว่า 4% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการต่อสู้ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้รัฐบาลของ ปธน.ไบเดน ระดับดอกเบี้ยนโยบายและการสื่อสารของภาครัฐเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว