แนะรัฐขยายวงอุ้มSMEsนิติบุคคลอีก1.1แสนราย

27 ม.ค. 2564 | 07:08 น.

ทีเอ็มบีชี้ “เราชนะ และ “คนละครึ่ง”ช่วยMicro SMEsร้านค้าย่อย-แนะขยายวงอุ้มเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลอีก 1.1แสนรายเพื่อประคองการจ้างงานกว่า2.5ล้านคน-คาดฉุดรายได้ไตรมาสแรกลดกว่า 2.7หมื่นล้านบาท

ทีเอ็มบีชี้ แม้ภาครัฐจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการ “เราชนะ” และ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ที่เป็นร้านค้าย่อย และกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม  แนะขยายวงอุ้มSMEs ที่เป็นนิติบุคคลอีก 1.1 แสนรายเพื่อประคองจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน-คาดผลกระทบจากโควิดไตรมาสแรกฉุดรายได้ลดกว่า 2.7แสนล้านบาท

แนะรัฐขยายวงอุ้มSMEsนิติบุคคลอีก1.1แสนราย

            ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  คาดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะทำให้รายได้ของธุรกิจ SMEs ภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย ที่มีการจ้างงานรวมกันกว่า 6.1 ล้านคน   พบว่ากลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีนิติบุคคลมีบทบาทจ้างงานถึง 1.8ล้านคนหรือคิดเป็น 55% ของการจ้างงานเอสเอ็มอีในพื้นที่  รายได้จะลดลงประมาณ 2.20 หมื่นล้านบาท มี SMEs ที่ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน  ขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง เป็นนิติบุคคลที่มีสัดส่วน 20-27% ของการจ้างงาน รายได้จะลดลง 2.7 และ 2.2 พันล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนราย ตามลำดับ

 

 

TMB Analytics ประเมินว่า ธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท รองลงมา ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท สาเหตุที่ธุรกิจ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ดได้รับผลกระทบมากลำดับต้นๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบจำนวนการมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจโรงแรม/ที่พัก และธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง 3.8 และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

แนะรัฐขยายวงอุ้มSMEsนิติบุคคลอีก1.1แสนราย

เมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล พบว่าร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน  รองลงเป็นร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจอยู่ 1.1 หมื่นรายจ้างงานอยู่ที่ 6.4 หมื่นคน  ตามด้วยกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่พัก มีจำนวนธุรกิจ 1 หมื่นรายและ 7 พันรายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน

 

แนะรัฐขยายวงอุ้มSMEsนิติบุคคลอีก1.1แสนราย

TMB Analyticsประเมินระว่า  เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวกระจายตัวไปทั่วประเทศ แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบกลับกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเป็นกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวและบริการอยู่มาก โดยประเมินว่า จังหวัดชลบุรีได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวอยู่ 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน คาดว่า SMEs จะมีรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท และมีการจ้างงาน 2.46 แสนคน  

รองลงมาคือ กรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนภาคท่องเที่ยว37.6% รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท   ส่วนลำดับรองลงไป คือ  สมุทรปราการ ,ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับผลกระทบ 1.38, 1.13 และ 1.08 พันล้าน ตามลำดับ

           

โดยสรุป มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs รายย่อยเป็นหลัก จึงยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น เช่น เพิ่มการเข้าถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการ SMEs และแรงงานให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน