สถาบันพระมหากษัตริย์กับการแพทย์ไทยในสถานการณ์โควิด-19

27 ม.ค. 2564 | 08:07 น.

สถาบันพระมหากษัตริย์กับการแพทย์ไทยในสถานการณ์โควิด-19 : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3648 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค.64 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

สถานการณ์ของโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถือได้ว่าเป็นการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ นับถึงวันที่ 25 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมถึง 99,741,860 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,138,942 ราย และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีก จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 แซงหน้าโรคระบาดอื่นไปแล้วทุกเหตุการณ์ ยกเว้นเพียงไข้หวัดใหญ่สเปนในปี ค.ศ.1918-1920 เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่มีผู้ป่วย 500 ล้านคน เสียชีวิตถึง 50 ล้านคน ซึ่งเกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ของไทย

สถานการณ์ของโควิด-19 ที่ไทยกำลังเผชิญหน้าร่วมกับพลเมืองของโลกขณะนี้ ประเทศไทยและประชาชนไทย ถือว่าได้รับผลกระทบโดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ยังอยู่ในจำนวนตัวเลขที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นในระลอกที่สอง แต่ตัวเลข ณ วันที่ 25 มกราคม 2564 ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 13,687 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 75 ราย อยู่ในลำดับที่ 125 ของโลก 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยยังนับได้ว่ามีมาตรการรับมือเพื่อป้องกันและจัดการกับการระบาดของโรคร้าย ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ และยังเป็นที่ยอมรับในมาตรการการจัดการที่ดี เหตุที่ประเทศไทยสามารถจัดการและรับมือกับปัญหานี้ได้ดี ปัจจัยสำคัญยิ่งอยู่ที่การแพทย์และการสาธารณสุขที่ดีของไทยนั่นเอง 

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า เพราะประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงให้ความสำคัญต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ทรงเป็นผู้วางรากฐานการแพทย์และการสาธารณสุขไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยตลอดมา เพื่อการดูแลรักษาประชาชน การแพทย์และการสาธารณสุขของไทย จึงเป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก การที่ประเทศไทยและพี่น้องประชาชนชาวไทย ไม่ติดเชื้อโรคระบาดและตายกันเป็นเบือเยี่ยงประเทศอื่นๆ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์โดยแท้ 

การแพทย์สมัยใหม่ของไทยที่ติดอันดับโลก จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนี้ ก็เป็นเพราะรัชกาลที่ 5 ทรงได้วางรากฐานไว้ โดยมีการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของไทยขึ้นชื่อ "โรงพยาบาลศิริราช" และมีการสร้างโรงเรียนแพทย์, โรงเรียนนางผดุงครรภ์ ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินทุนของสภาอุณาโลมแดง และก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารบก สร้างโรงพยาบาลพระมงกฎเกล้าฯ บริการดูแลรักษาประชาชน โรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นสถาบันบ่มเพาะแพทย์ไทย เพื่อรักษาประชาชนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก ที่อุทิศพระองค์เพื่อการวางรากฐานและพัฒนาการแพทย์ โดยนำวิทยาการความรู้ที่ทรงเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุขและด้านแพทย์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำให้กิจการแพทย์และสาธารณสุขของไทย เจริญก้าวหน้า ด้วยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียนแพทย์, โรงพยาบาล, และหอพักพยาบาล, พระราชทานทุนส่วนพระองค์แก่แพทย์ พยาบาล เพื่อไปศึกษาต่างประเทศ ทั้งได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ในการสอนฝึกอบรมแก่นักเรียนแพทย์ พยาบาลอีกด้วย 
 

การวางรากฐานแก่การแพทย์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยมีความเจริญทัดเทียมอารยะประเทศ ด้วยพระเกียรติคุณและอัจฉริยะภาพดังกล่าว จึงทำให้พระองค์ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า "บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" 

มาถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489-ปัจจุบัน) พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพอนามัย ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า พระองค์ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ครอบคลุมทั้งงานด้านป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประชาชนชาวไทยล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ต่างประเทศก็ตระหนักและชื่นชมในพระราชกรณียกิจ 

องค์การอนามัยโลกได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการควบคุมโรคขาดสารอาหารไอโอดีน ทูลเกล้าฯถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณในการพระราชทานแนวคิดและทิศทางการเผยแพร่เกลือเสริมไอโอดีนเพื่อควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน และสถาบัน Franklin and Eleanor Roosevelt Institute และคณะกรรมการระดับโลกว่าด้วยคนพิการ ได้ถวายรางวัล "Franklin Delano Roosevelt International Disability Award" ในฐานะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการระดับโลก ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยคนพิการ งานด้านสาธารณสุข ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มีเป็นอเนกประการ

งานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ล้วนแต่ทรงให้ความสนพระทัยใส่ใจในทุกข์สุขของราษฏร ทั้งได้มีพระราชกรณียกิจดำเนินงานในโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน จนสุดที่จะพรรณนา
 

ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ เอสซีจี แก่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 และต่อยอดตรวจหาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และยังได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจี ดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ, พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อขีวนิรภัย จำนวน 13 คัน ให้แก่ประชาชนพื้นที่ต่างๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ได้พระราชทานให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า บริษัทชั้นนำของโลก เพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนฉีดป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ดังเป็นที่ทราบกันดีขณะนี้ 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มีคุณูปการอันใหญ่หลวง และทุกพระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการแพทย์และสาธารณสุขอเนกประการอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศและชนชาวไทย จึงควรที่พวกเราพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย พึงจดจำใส่เกล้าและร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ใดกล่าวความเท็จดูหมิ่นใส่ความต่อสถาบัน ก็ขอให้มันผู้นั้นจงวิบัติและได้รับกรรมทุกตัวตน เกิดเป็นคนไทยต้องทดแทนคุณแผ่นดิน มิใช่เนรคุณแผ่นดิน