ไลอ้อน ถอดบทเรียน “ต้มยำกุ้ง-แฮมเบอเกอร์” แก้วิกฤติ “โควิด-19”

27 ม.ค. 2564 | 07:21 น.

ไลอ้อน ถอดบทเรียน “ต้มยำกุ้ง-แฮมเบอเกอร์” แก้วิกฤติ “โควิด-19” เน้นบริหารรัดกุม เดินหน้าลงทุน ปั้นเรือธง ตอบโจทย์ผู้บริโภค

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัทในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า  การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้าง ผู้คนทุกกลุ่มถูกกระทบ ส่งผลต่อกำลังการใช้จ่าย และต่อองค์กรธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ในภาวะนี้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำประสบการณ์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอเกอร์ หรือวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพซับไพรม์ มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร และเชื่อมั่นว่าจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยที่ธุรกิจไม่หยุดชะงัก

บุญฤทธิ์ มหามนตรี

“หลักการสำคัญที่เรายึดมั่นในช่วงที่เกิดวิกฤติในระบบเศรษฐกิจคือ การไม่ใช้เงินกู้ แม้จะมีเครดิตที่ใช้ได้จำนวนมาก การลงทุนทั้งหมดจะมาจากเงินสะสมของบริษัท และสิ่งสำคัญที่จะไม่ทำในสิ่งที่บริษัทที่ล่มสลายในวิกฤติทำ คือความไม่ซื่อสัตย์ และการไม่พัฒนาไม่ปรับตัว”

 

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดข้อจำกัดหลายด้าน แต่บริษัท ไลอ้อน จะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีขึ้นของลูกค้าทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ  รวมถึงการผลิตสินค้ารับกับกระแสปัจจุบัน โดยเร็วๆ นี้ ได้ขยายธุรกิจจากสินค้าอุปโภคสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แอสคอร์-เท็น (ASCOR-10)  ที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายแบบองค์รวม ด้วยสมุนไพรธรรมชาติ

สินค้าบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจะยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบันที่การออกผลิตภัณฑ์ในแต่ละกลุ่มให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาวะของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน  เช่น สินค้าแบรนด์ GoodAge  ทุกผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพผิวกาย ครีมอาบน้ำ ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่องปากยาสีฟัน แปรงสีฟัน สำหรับผู้สูงอายุ สอดคล้องกับเทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประชากรไทย

 

“การวิจัยและพัฒนาจะยังมีต่อเนื่องและจะมากขึ้น  ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ตั้งศูนย์วิจัยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งนักวิจัยและเครื่องมือที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างมาก”

 

ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบสารสกัดจากพืชท้องถิ่นที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การ Upcycling ไม่ให้กลายเป็นขยะ นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณค่า ซึ่งเร็วๆนี้จะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลเส้นผมและผิวพรรณ เป็นแนวทางที่นอกจากจะได้สินค้าคุณภาพแล้ว ยังได้ดูแลเกษตรกรในชุมชนให้มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัยเก๋าเฮ!  ไลอ้อนปักหมุด BTS เปิด “กู๊ดเอจ” ร้านต้นแบบผู้สูงวัย

"ไลอ้อน" มอบ 4.1 ล้าน ส่งกำลังใจสู้ภัยโควิด-19

สหพัฒน์ผนึกโตคิวลงทุนอีก 800 ล้าน ผุดโครงการบ้านเฟส 2 ในศรีราชา

ไอ.ซี.ซี. ส่งเครื่องผลิตน้ำด่าง ลุยตลาดสุขภาพรับมือโควิด

ยกเครื่อง “ดองกิ” เดินหน้าขยาย 20 สาขาใน 5 ปี