อุตสาหกรรมดิจิทัลไม่ได้เติบโตแบบ S-Curve แต่เป็น K-Curve

26 ม.ค. 2564 | 13:30 น.

วัฏจักรอุตสาหกรรมดิจิทัลไม่ได้เติบโตแบบ S-Curve แต่เป็น K-Curve ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและทแยงลงแบบตัว K


ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ ([email protected]) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอดีตรองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ได้หยิบยก เรื่อง ‘กฎของมัวร์’ มาช่วยอธิบายการเติบโตแบบทวีคูณเป็นเส้นทแยงขึ้นไม่สิ้นสุดของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ขณะที่ผลกระทบจากโควิด -19 กลับเพิ่มการทดถอยเป็นเส้นทแยงลงของบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้จุดปลายของทั้งสองเส้นของตัว ‘K’ ยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

การที่ธุรกิจไม่สามารถรักษาเส้นทางการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อุตสาหกรรมถึงจุดอิ่มตัว ไม่สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ภูมิประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค คู่แข่งที่เข้ามาใหม่ใช้โมเดลธุรกิจที่แตกต่างออกไป หรือเกิดการทำลายล้างธุรกิจเดิมด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ถ้าจะให้อยู่รอดและรักษาระดับการเติบโตต่อไปได้ ธุรกิจจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางเพื่อพลิกกลับ เรียกว่าการสร้าง New S-Curve ซึ่งอาจเป็นการพัฒนานวัตกรรมของตนเอง หรือเข้าไปลงทุนในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีน่าสนใจ หรือหาตลาดใหม่โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตร แม้กระทั่งการควบรวมกิจการ 

บริษัทอินโนไซด์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม พบว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ ตั้งแต่การให้บริการระบบคลาวด์โซลูชั่นของ Amazon  Google และ Microsoft การปรับโมเดลธุรกิจของฟูจิฟิล์มเป็นเฮลท์แคร์ เพื่อเกาะกระแสเทรนด์สังคมผู้สูงอายุและความใส่ใจเรื่องสุขภาพ หรือการปรับเปลี่ยนบริการทางการเงินที่เคยยุ่งยากซับซ้อนให้ง่ายขึ้น โดยอาศัยนวัตกรรมฟินเทคของ Tencent  เป็นตัวช่วยสำคัญในการพลิกไปสู่การเติบโตใหม่ภายใต้วัฏจักรของธุรกิจได้อีกครั้ง

เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้แค่พลิกฟื้นแต่เป็นตัวเร่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ไปได้ไกลกว่า S- Curve ในอุตสาหกรรมทั่วไป 

บทความลงวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ในปี ค.ศ. 1965 ของ กอร์ดอน มัวร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Intel ได้คาดการณ์ว่าปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมจะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกๆ สองปี ซึ่งจะทำให้ชิปประมวลผลมีราคาถูกลง ขณะที่ประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น แนวคิดนี้ได้เข้ามาปฏิวัติวงการเทคโนโลยีดิจิทัลตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่รู้จักในชื่อ “กฎของมัวร์” ใช้คาดการณ์ซีพียูรุ่นใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์  นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง แถวหน้าของบริษัทที่นวัตกรรมดิจิทัลสามารถสร้างการเติบโตรวดเร็วแบบทวีคูณ คือ The Big Five ประกอบด้วย Amazon  Apple  Google Microsoft และ Facebook ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทีเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจยุคใหม่

หัวใจสำคัญที่ผลิตภัณฑ์และบริการของ The Big Five กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มาจากศักยภาพในการเก็บและประมวลผลข้อมูลจำนวนมากผ่านอัลกอริทึมบนระบบคลาวด์ ที่ช่วยพัฒนาประสบการณ์ดิจิทัลของผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จมาจาก   การขยายจำนวนผู้ใช้งานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมทั้งภาวะที่สมรรถนะของการใช้งานจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถูกใช้งานมากขึ้น และนานขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Network Effect ทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนสูงในการเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่น ถึงแม้ว่าจะดีกว่าและถูกกว่าก็ตาม ผลที่ตามมาคือการกินรวบตลาดเกือบทั้งหมดและลดโอกาสการเติบโตของคู่แข่งรายใหม่ ตัวอย่างเช่น ระะบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์วินโดวส์ มีผู้ใช้มากถึง 72.1% 

ขณะที่ ลีนุกซ์ แม้จะเสถียรกว่า แต่ก็มีผู้ใช้งานแค่ 13.6 %   Facebook ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายให้กับคน 2 พันล้านคนทั่วโลก เทียบกับ Snapchat ที่มีผู้ใช้งานแค่ 188 ล้านคน

ตามกฏของมัวร์ วัฏจักรอุตสาหกรรมดิจิทัลไม่ได้เติบโตแบบ S-Curve แต่เป็นแบบตัวอักษร ‘K’ ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและทแยงลง บริษัทอินโนไซด์ พบว่ามีบริษัทดิจิทัลส่วนน้อยเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งทำให้การได้มา ซึ่งข้อมูลนั้น มีต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆ โดยที่มูลค่าของข้อมูลกลับเพิ่มสูงขึ้น สามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้ยังคงรักษาอัตราการเติบโตแบบทวีคูณต่อไปได้ ขณะที่บริษัทขนาดเล็กแม้จะมีนวัตกรรมแต่ก็ไม่มีต้นทุนมากพอที่จะขยายฐานผู้ใช้ได้ ก็จะถูกซื้อกิจการไปในที่สุด 

ที่ผ่านมา Facebook ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทสตาร์ทอัพ รวมแล้วมากกว่า 60 บริษัท การเติบโตแบบ  K-Curve ที่มี The Big Five อยู่บนเส้นทแยงขึ้น นำไปสู่ความแตกต่าง และความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ปัจจุบัน The Big Five  มีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่าประเทศฝรั่งเศสที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน การระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่และประชาชนต้องถูกล็อกดาวน์ ยิ่งทำให้ The Big Five ซึ่งคุมระบบบริการคลาวด์โซลูชั่น และระบบเก็บค่าบริการสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปีที่แล้ว Amazon มีรายได้เพิ่มขึ้น 40% ใกล้เคียงกับ Google Cloud Solutions ที่เพิ่มขึ้น 43%  

ส่วน Azure บริการคลาวด์ของ Microsoft ก็ทำรายได้เพิ่มขึ้น 47%  ส่วน Facebook ค่าโฆษณาเติบโต 11% และยอดผู้ใช้งานรายวันเพิ่มขึ้น 12%  ทำให้หางด้านบนของตัว K ถูกลากยาวสูงขึ้นไปในอัตราทวีคูณ เป็นการพิสูจน์ความถูกต้องของ ‘กฏของมัวร์’ อีกครั้ง ขณะที่ผลกระทบจากโควิด -19 กลับเพิ่มการทดถอยเป็นเส้นทแยงลงในบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้จุดปลายของทั้งสองเส้นของตัว ‘K’ ยิ่งห่างกันมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อย ๆ