หลอน "ร่าง พรบ. วัตถุอันตราย" พลิกมติแบนสารพิษ

29 ม.ค. 2564 | 03:45 น.

เอกชน ลุ้น ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ผ่านสภา เพิ่มผู้เชี่ยว ชาญต่างประเทศ ในบอร์ดวัตถุอันตราย ชี้ส่งผลทางบวก คาดดันยอดอุตสาหกรรมเคมีโตมากกว่า 3 หมื่นล้าน กมธ.เผยเตรียมประชุมนัดแรก 29 ม.ค.นี้ วงในหวั่นพลิกมติเลิกแบนสารพิษ

 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เป็นเรื่องด่วน ซึ่งที่ประชุมมีจำนวนผู้ลงมติ 332 เสียง เห็นด้วย 254 เสียง ไม่เห็นด้วย 71 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในรัฐสภาว่า ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีทั้งสิ้น 10 มาตรา หลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  เหตุผลการพิจารณาวัตถุอันตรายมีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเพื่อดำเนินการดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยให้มีผู้เชี่ยว ชาญดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาวัตถุอันตรายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ประเด็นการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ได้มีการป้องกันกรณีดังกล่าวไว้แล้ว ตามมาตรา 56/3 (1) ซึ่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะต้องออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาและการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากการกำหนดคุณสมบัติแล้วยังสามารถกำหนดลักษณะของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสามารถเพิกถอนการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญได้หากพบว่า ขาด คุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด

 

การนำเข้าวัตถุอันตราย

 

ด้าน นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า หลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเพื่อให้มีความรวดเร็ว โดยการพิจารณา วัตถุอันตรายต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน และมีการพิจารณาเอกสารทางวิชาการ โดยภาคเอกชนไม่ได้ มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุญาต

 

 

ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และ 1 ใน 25 คน คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญนัดแรกในวันที่ 29 มกราคมนี้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าตามหลักกฎหมายไทยองค์กรต่างประเทศสามารถที่จะเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตรายซึ่งตั้งแต่เรียนกฎหมายมาไม่เคยเห็นกฎหมายแบบนี้ และไม่อยากให้เรื่องนี้ผ่านไปได้โดยง่าย

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์

 

เช่นเดียวกับ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เป็นการเล่นกล กับ 3 สารพิษ ที่วันนี้แบนไปแล้ว 2 ตัว (พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส)  ยังเหลือ “ไกลโฟเซต” แต่วันนี้กำลังเอากลับมาทั้งหมด เพราะอยู่ดีเอาอำนาจไปให้ต่างชาติ และถ้าไปทำวิจัยว่าตัวนี้ไม่มีพิษก็ต้องถอนการแบนอยู่ดีๆไปยื่นหอกให้คนต่างชาติ กลายเป็นว่าถูกตีเมืองขึ้นโดยกฎหมายของเราเองให้ต่างชาติมาครอบงำประเทศไทย ควรหรือไม่

 

 

สมศักดิ์ สมานวงศ์

 

ขณะที่ นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าว เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญในการประเมินเรื่อง “พิษวิทยา” ทั้งเรื่องสารก่อมะเร็ง หรือสิ่งแวดล้อม หรือ เรื่องคุณสมบัติวัตถุอันตราย ไม่แน่ใจว่าจะเชิญหน่วยงานใด (จากต่างประเทศ) เข้ามาเป็นกรรมการร่วม อาทิ หน่วยงานวิจัย หรือเอกชน จะมาช่วยสะท้อนผลกระทบข้อดีและข้อเสีย คุณสมบัติของสารเคมีต่าง ๆ มากกว่า คงไม่ใช่ให้เจ้าของผลิตภัณฑ์

 

 

“กรณีนี้แบบนี้หลายประเทศก็ทำกัน หากมองในแง่ธุรกิจก็จะทำให้การวิเคราะห์เรื่องพิษวิทยา เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเท่าที่ทราบมีเรื่องที่ค้างในการวิเคราะห์สารต่าง ประกอบทีมวิเคราะห์และพิจารณางานล้นมือ อยากให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น จำเป็นที่จะต้องใช้คนนอกมาทำ หรือ Outsource จะทำให้เทคโนโลยีใหม่สามารถเข้ามาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อมาทดแทนเทคโนโลยีเดิม น่าจะมีประโยชน์เกิดผลดีกับภาพรวมวัตถุอันตรายทั้งเกษตรและผู้ค้าสารเคมีในประเทศ (ปี 2563 มีมูลค่าการนำเข้าปริมาณวัตถุอันตราย ร่วม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2562  มูลค่านำเข้ากว่า  2.1 หมื่นล้านบาท” 

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดตัว 25 กมธ.ร่าง พรบ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....

ราชกิจจาฯ ประกาศแบน 2 สาร "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" แต่ไม่เป็นศูนย์

แบน 3 สาร ส่งออกอาหาร 1 ล้านล.ป่วน

แบนสารเคมีตลาดวูบ 1.5 หมื่นล้าน

ราชกิจจาฯ ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย