การวางแผนเกษียณสำหรับ Freelance

26 ม.ค. 2564 | 05:57 น.

"อาชีพอิสระ" อาจจะไม่มีวันเกษียณตราบใดที่ยังรักในอาชีพและยังมีแรงไหวกันอยู่ แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ควรต้องมีการวางแผนเกษียณไว้ด้วย เพราะไม่มีความแน่นอนในเรื่องของรายได้ 

 

สำหรับอาชีพอิสระนั้นอาจจะไม่มีวันเกษียณตราบใดที่ยังรักในอาชีพที่ทำ และยังมีแรงไหวกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ควรต้องมีการวางแผนเกษียณไว้ด้วย เพราะไม่มีความแน่นอนในเรื่องของรายได้ และสวัสดิการด้านต่างๆ แตกต่างจากผู้มีรายได้ประจำและมีสวัสดิการช่วยเหลือต่างๆ มากมาย ขอสรุป 4 ข้อในการวางแผนเกษียณดังนี้

 

บริหารสภาพคล่องและรายจ่ายต่อเดือนให้ดีที่สุด 

 

รายได้ของบรรดา Freelance แตกต่างกับมนุษย์เงินเดือน ตรงที่ “ไม่มีวันเงินเดือนออก (ที่แน่นอน)” ทั้งวันที่เงินเดือนออกและจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละเดือน บางครั้งเสร็จงานปุ๊บ รับเงินได้เลย แต่ก็มีไม่น้อยที่ทำงานเสร็จแล้วยังไม่ได้เงิน ต้องรอรอบบัญชีบ้าง รอสิ้นเดือนบ้าง รอจ่ายทีเดียวบ้าง...แต่ค่าใช้จ่าย และต้นทุนการทำงาน ทั้งค่าเดินทาง ค่าบ้าน ค่าอาหาร หรืออุปกรณ์การทำงาน ไม่มีวันผลัดผ่อนได้ แถมอาชีพอิสระรายได้ก็ไม่แน่นอน เดือนนี้งานเข้า- เงินเข้า เดือนต่อไปอาจจะงานหด- เงินหายก็ได้ ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนของชาวฟรีแลนซ์

 

ดังนั้น จึงต้องมี “เงินสด” ไว้ให้อุ่นใจเสมอ...ง่ายที่สุดก็คือการเก็บไว้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (และมีบัตรเอทีเอ็ม) ที่ถอนได้ตลอด ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรจะต้องมีเงินสดไว้ในบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 60,000 บาทให้อุ่นใจ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องกังวล ซึ่งแตกต่างจากผู้มีรายได้ประจำอาจจะมีเงินสดฉุกเฉินได้น้อยกว่า 6 เดือนหรือ ประมาณ 3-4 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

 

ไม่ว่าจะเป็นคนอาชีพไหน สิ่งที่ควรทำก็คือ “งบประมาณรายจ่าย” แบ่งเงินเป็น 4 ส่วน (ไม่เท่ากัน) เสมอไม่ว่ารายได้จะมาก - น้อยแค่ไหนก็ตาม

 

⦁    ส่วนที่ 1: ออมเพื่อตัวเองก่อนในอนาคต โดยให้เงินทำงาน (นำไปต่อยอด เงินต่อเงิน) 

⦁    ส่วนที่ 2: ค่าใช้จ่ายประจำวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ) 

⦁    ส่วนที่ 3: ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน (เสริมสภาพคล่อง) 

⦁    ส่วนที่ 4: อื่น ๆ (คอร์สเสริมความรู้ หนังสือ เดินทาง ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ฯลฯ)

 

เมื่อแบ่งรายได้ที่เข้ามาในกระเป๋าเป็น 4 ส่วนตามสไตล์ของตนเองแล้ว ส่วนที่ 2 (ค่าใช้จ่ายประจำวัน) ก็จัดการ “ใช้ให้เกลี้ยง” เพราะหากเราเก็บออม (ให้เงินทำงาน) มีเผื่อ (ฉุกเฉิน) มีเติม (ประสบการณ์ ความรู้) ที่เหลือก็เป็นของเรา มีน้อย-ใช้น้อย มีมาก- ใช้มาก เพราะหากมัวแต่เก็บทั้งหมดเพื่ออนาคต ก็อาจจะทำให้เราไม่ได้สัมผัสกับความสุขในปัจจุบัน...

 

แต่อย่าลืมว่าต้อง “แบ่งให้ชัดเจน” ก่อน ถึงจะ “ใช้ (ที่เหลือ) ให้เกลี้ยง” ไม่ใช่เอาแต่ใช้จนสุดท้ายไม่มีเหลือ

 

บริหารความเสี่ยงให้รอบด้าน 

 

“ทำงาน-ได้เงิน ไม่ทำงาน-ไม่ได้เงิน” นิยามที่ชัดที่สุดของอาชีพอิสระ ดังนั้น “สุขภาพกายที่แข็งแรง” จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากป่วย ลา มาสาย นอกจากจะขาดรายได้ในวันนั้นแล้ว เผลอๆ อาจเสียเครดิตก็เป็นได้ ต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่มีวันลาป่วย ที่แม้จะหยุดงานแต่รายได้ก็คงเดิม อีกทั้งบรรดา Freelance ยังไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลจากต้นสังกัดเหมือนมนุษย์เงินเดือนอีกด้วย

 

ดังนั้น “ประกันสุขภาพ” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่เป็นนายตัวเองทั้งหลาย เพราะหากเจ็บป่วยรายได้ที่หามาอาจไม่พอเยียวยาให้ตัวเองหายดี ซึ่ง หมายความว่าหากนอนโรงพยาบาลเมื่อไหร่ ก็เท่ากับขาดรายได้ บริษัทประกันก็จะชดเชยให้เท่ากับจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล และส่วนเพิ่มเช่นนี้มักมีเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก รวมถึงประกันอุบัติเหตุ และประกันปกป้องทรัพย์สินที่มี เพื่อเป็นการคุ้มครองและบริหารความเสี่ยงให้ครบรอบด้าน เนื่องจากไม่มีสวัสดิการของบริษัทมารองรับ

 

บริหารเงินออมเพื่อเกษียณ 

 

การลงทุนที่เสี่ยงที่สุดคือ “การลงทุนในเวลา” เพราะใช้แล้วหมดเลย ไม่มีวันหวนกลับมาให้เราแก้ไขสิ่งใด (บางครั้งหุ้นที่ว่าเสี่ยง ร่วงหนักๆ ยังกลับมาเป็นบวกได้) ซึ่งเวลาของ Freelance เป็นเงินเป็นทอง ดังนั้นอะไรที่ช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินได้ ทั้งธนาคารออนไลน์ ลงทุนแบบอัตโนมัติ (ตัดบัญชีรายเดือน หรือการหักแบบ Dollar Cost Average ) ฯลฯ แล้วเอาเวลาที่เข้าคิวเรียกชื่อในธนาคารพาณิชย์ ไปเพิ่มพูนความรู้ โดยเนื่องจากอาชีพอิสระไม่มีสวัสดิการใดๆ จึงควรลงทุนเพื่อเป็นการวางแผนเกษียณ และได้ลดหย่อนภาษี ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ประกันแบบบำนาญ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ กองทุนเหล่านี้จะสร้างหลักประกันในการเกษียณได้เป็นอย่างดี เริ่มยิ่งเร็ว ยิ่งดี วิธีการก็แสนง่าย แค่นำเงินที่เราแบ่งเอาไว้ (ส่วนที่ 1) ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เราถนัด อาจเป็นหุ้น อสังหาฯ เพชร ทองคำ ฯลฯ หรือถ้าไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ก็ให้มืออาชีพบริหารให้ผ่าน “กองทุนรวม” ก็ได้เช่นกัน เพราะการลงทุน (ระยะยาว) ดีกว่าการฝากเงินเป็นไหนๆ แต่ไม่ว่าจะลงทุนในอะไร...ต้องไม่ลืม “กระจายการลงทุน” ตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ และมีระยะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสม
 

บริหารความสุข และความคาดหวังในบั้นปลายชีวิต 

 

“ชีวิตของ Freelance คือความไม่แน่นอน” ดังนั้นนอกเหนือจากการเสียหยาดเหงื่อ แรงกาย พลังใจ และมันสมอง ของเราไปกับการทำงานแล้ว อย่าลืมนำ “เงิน” ที่เราต้องทุ่มเทให้ได้มันมาไป “ทำงานต่อ” ด้วยการลงทุน จะได้เข้าหลักการ “ใช้แรงทำเงิน และ ให้เงินทำงาน” เผื่อวันหนึ่งเราไม่สามารถ “ใช้แรงทำเงิน” ก็ยังมีดอกผลจากการที่เรา “ให้เงินทำงาน” มาเก็บกินบ้าง หาความสุขตามเป้าหมายและตอบโจทย์การดำรงชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข

 

ดังนั้น การบริหารการเงินเพื่อการเกษียณ สำหรับอาชีพอิสระหรือ Freelance นั้น ก็คือการวางแผนการเงินในตลอดระยะเวลาของการยังสามารถหารายได้อยู่ อาชีพอิสระ อาจจะมีเวลาในการเกษียณไม่เท่ากันหรือบางคนอาจจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว ดังนั้นการวางแผนเกษียณและวางแผนความเสี่ยงเป็นเรื่องละเลยไม่ได้เลย โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ และควรมีแผนสำรองเสมอ ขอให้มีความสุขในการบริหารการเงินในทุกช่วงชีวิตนะคะ
 

 

โดย :  จันทร์ฉาย จันทร์เจ้าฉาย นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย