อุ่นเครื่องกำกับดูแลการผูกขาด

27 ม.ค. 2564 | 04:30 น.

อุ่นเครื่องกำกับดูแลการผูกขาด : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,648 หน้า 5 วันที่ 28 - 30 มกราคม 2564

ในปีที่ผ่านมา ประเด็นการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่างๆ ได้มีความร้อนแรงจนปรากฎเป็นข่าวใหญ่หลายครั้ง รัฐบาลของหลายประเทศได้หันมาเอาจริงเอาจังในการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (“กฎหมายแข่งขันฯ”) เป็นเครื่องมือในการลดอำนาจบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแนวโน้มจะผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ในประเทศจีน รัฐบาลได้เริ่มในการเข้าไปตรวจสอบการผูกขาดของธุรกิจหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่างอาลีบาบาและเทนเซนท์ ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็ได้มีอนุกรรมาธิการของสหรัฐอเมริกาได้เรียกผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดิจิทัลอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่ง เฟซบุ๊ก เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน ทิม คุก แห่ง แอปเปิล และ ซันดาร์ พิชัย แห่ง กูเกิ้ล เพื่อเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน และยังมีกรณีที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้ออกคำสั่งห้ามวีซ่าเข้าซื้อกิจการในเพลด (Plaid) ที่พึ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เนื่องจากจะสร้างผลเสียกับการแข่งขัน

 

อุ่นเครื่องกำกับดูแลการผูกขาด

 

 

ข่าวใหญ่ในประเทศไทยก็หนีไม่พ้นการรวมธุรกิจระดับแสนล้านระหว่าง ซีพี กับ เทสโก้โลตัส ที่ได้รับ ความสนใจอย่างมาก คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของไทยที่มีอายุไม่กี่ปีหลังจากแก้กฎหมายแข่งขันฯ ก็ต้องเจอกับการพิจารณากรณียากๆ เพราะต้องพิจารณาตัดสินว่าจะอนุญาตให้รวมธุรกิจหรือไม่ และถ้าอนุญาตให้รวมธุรกิจจะต้องมีเงื่อนไขในการรวมธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ว่าจะผลการพิจารณาจะออกทางไหนก็ตามก็ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นงานที่หนักและท้าทายมาก

 

แน่นอนว่าต่อไปประเทศไทยจะมีการรวมธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่โควิดได้พ่นพิษกับเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก ซึ่งคณะกรรมการและสำนักงานการแข่งขันทางการค้าก็ต้องเตรียมทั้งทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้และเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมรับมือกับกรณีการรวมธุรกิจและคดีแข่งขันที่จะเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

 

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าองค์กรกำกับดูแลก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ ธุรกิจผู้ซึ่งถูกกำกับดูแลก็จะต้องเข้าใจกฎหมายแข่งขันฯ ด้วย ในหลายครั้ง กลยุทธ์เชิงธุรกิจหลายๆ อย่างที่ทำกันอยู่เป็นปกติอาจจะขัดต่อกฎหมายแข่งขันฯ ก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายของร้านค้าที่จะคืนเงินส่วนต่างให้หากลูกค้าไปเจอร้านคู่แข่งที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันถูกกว่า ถ้าฟังเผินๆ แล้วก็ดูเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียกับการแข่งขันเพราะจะไปลดแรงจูงใจในการแข่งขันราคา (ลดราคาไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะสุดท้ายลูกค้าก็ไปซื้อจากร้านอื่นแล้วขอเงินส่วนต่างคืนอยู่ดี)

 

ดังนั้น เมื่อไม่มั่นใจว่ากลยุทธ์ที่จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ควรเข้าไปปรึกษากับทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผู้กำกับดูแลก็น่าจะอยากให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย คงไม่มีกรรมการคนใดอยากจะแจกใบเหลืองใบแดงเรื่อยๆ มากกว่าการที่ผู้เล่นทุกคนแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม

 

 

แม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันฯ จะถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ตัวกฎหมายได้ถูกออก แบบไว้นานมาแล้ว คำถามที่สำคัญคือ การกำกับดูแลการแข่งขันที่เราเพิ่งจะเริ่มหัดทำจะตามธุรกิจในยุคนี้ทันหรือไม่ โดยเฉพาะในธุรกิจดิจิทัลทั้งหลายที่ทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทั่วโลกปวดหัวมาแล้ว ปัญหาหลายประการในการกำกับดูแลก็ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน

 

อย่างเช่น ขอบเขตการใช้อำนาจของคณะกรรมการอาจจะไม่ครอบคลุมธุรกิจต่างชาติที่ให้บริการกับคนไทยผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจดิจิทัลอาจจะไม่สามารถดูได้จากยอดขายเพียงอย่างเดียว เพราะอำนาจผูกขาดอาจจะเกิดจากการข้อมูลลูกค้าปริมาณมหาศาล ที่ธุรกิจยอมดำเนินการขาดทุนไปด้วยสะสมข้อมูลไปด้วย เพื่อนำไปสร้างกำไรมหาศาลในภายหลัง

 

สำหรับประเทศไทยแล้ว กรณีการรวมธุรกิจของซีพีและเทสโก้โลตัส เป็นแค่การอุ่นเครื่องเท่านั้น ยังมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ ต่อไปคงมีกรณีการแข่งขันทางการค้าสนุกๆ ให้เราได้ติดตามอีกเยอะ และสิ่งที่น่าติดตามที่สุด คือ การกำกับดูแลการแข่งขันจะทำให้เราได้เห็นการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมตามที่เราฝันไว้หรือไม่