เศรษฐกิจชีวภาพ: โอกาสความร่วมมือไทย-สาธารณรัฐเช็ก

25 ม.ค. 2564 | 00:19 น.

บทความพิเศษ​: สถานเอก​อัครราชทูต​ ​ณ​ กรุง​ปราก​

 

เมื่อพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและพลังงานในปัจจุบัน กระแสของเศรษฐกิจแบบ BCG (หรือ Bio-Circular-Green Economy) ที่เรียกว่า เศรษฐกิจชีวภาพ เริ่มเป็นแนวทางที่ทุกประเทศต่างพูดถึง และไทยก็ได้ประกาศให้ BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ซึ่งต่อยอดจากการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการเติบโตแบบก้าวกระโดด

 

วันนี้จะพาไปรู้จักกับ แนวการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาพลังงานถ่านหินและพลังานงานนิวเคลียร์เป็นหลักและอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดของอียูตามแผน European Green Deal

 

เช็ก เป็นประเทศขนาดกลางในยุโรปที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคจึงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิศาสตร์หลายประการและยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เมื่อปี 2563 ได้เกิดภัยแล้งในระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปีผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี เช็กเป็นสมาชิกใหม่ของอียูที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดี ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ของ GDP ต่อปี จึงเอื้อต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากที่เคยพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรกล โลหะและเคมีภัณฑ์เป็นหลัก ไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบชีวภาพแบบหมุนเวียน เช่น การผลิตที่เน้นการใช้พืช ป่าไม้ สัตว์ และจุลินทรีย์ แต่สำหรับเช็กแล้วการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพตามนิยามดั้งเดิมเป็นข้อจำกัดสำคัญ เนื่องจากเช็กขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อเศรษฐกิจชีวภาพ แต่เป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเคมีภัณฑ์ ชีววิทยา และเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้นำจุดแข็งดังกล่าวมาเป็นแกนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในปัจจุบัน

 

สาธารณรัฐเช็ก

เช็กยังเป็นสมาชิกในกลุ่ม Visegrad ที่เป็นสมาชิกก่อตั้ง BIOEAST Initiative (The Central-Eastern European Initiative for Knowledge-based Agriculture, Aquaculture and Forestry in the Bioeconomy) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์และองค์ความรู้ในด้านการวิจัยและนวัตกรรมของเศรษฐกิจชีวภาพแบบยั่งยืนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ตลอดจนการร่วมกับประเทศสมาชิก Visegrad ในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 2562 – 2563 ที่เช็กดำรงตำแหน่งประธาน Visegrad 

 

การสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก

รัฐบาลเช็กให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพและสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเน้นการทำวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ และมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ (1) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (2) กระทรวงสิ่งแวดล้อม (3) กระทรวงเกษตร และ (4) กระทรวงศึกษา เยาวชน และกีฬา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ตลอดจนได้จัดตั้ง Technology Agency ขึ้นในปี 2552 เพื่อรับผิดชอบการดำเนินการด้าน R&D และนวัตกรรม

 

 ในปัจจุบันเช็กยังไม่มียุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเป็นการเฉพาะ แต่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพไว้ในยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ได้แก่ (1) The Strategic Framework for the Czech Republic 2030 (2) The Czech Republic’s Innovation Strategy for 2019-2030 (3) Research and Innovation Strategy for Smart Specialization of the Czech Republic และ (4) The Strategy of the Ministry of Agriculture of the Czech Republic with Outlook up to 2030 ซึ่งทิศทางสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเศรษฐกิจ ของเช็กคือการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็น low-carbon economy และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและ สิ่งแวดล้อมของอียู

 

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก

เช็กมีการจ้างงานแรงงานในภาคเศรษฐกิจชีวภาพระหว่างปี 2558 – 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 376,000 คน/ปี คิดเป็นประมาณ 2% ของการจ้างงานในภาคดังกล่าวของอียู โดยสาขาเศรษฐกิจชีวภาพที่เช็กมีความโดดเด่น ได้แก่ (1) Agricultural Bioeconomy ซึ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ (2) เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ พลาสติก และ bio-based rubber และ (3) Bio-textile เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุ bio และอุตสาหกรรมเครื่องหนังและขนสัตว์ ซึ่งในทุกภาคการผลิตสินค้า bio มีสัดส่วนการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ของการจ้างงานในภาคดังกล่าวของอียู และแม้ในปัจจุบันทิศทางการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรชีวภาพจะมีจำนวนแรงงานลดลงแต่ผลผลิตกลับสูงขึ้นเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แทนแรงงานคน

 

เช็กใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal) เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจชีวภาพ ระหว่างปี 2561-2563 มีการใช้พลังงานชีวมวลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 65.15% ของแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด และใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวมวลเพื่อการทำความร้อนเป็นหลัก และเช็กมองว่า ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศ พลังงานชีวมวลนับเป็นแหล่งพลังงานที่มีความเสถียรและสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ

 

สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาเช็กที่มีบทบาทนำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเช็กจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา (2) ผู้สนับสนุนการถ่ายโอนเทคโนโลยี และ (3) ผู้ประกอบการ ซึ่ง Czech University of Life Science Prague และ Mendel University Brno เป็นสถาบันการศึกษาหลักที่มีบทบาทนำในด้าน R&D ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ โดยได้ทำวิจัยและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยสาขาที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ การตัดต่อพันธุกรรมพืช สุขอนามัยพืช ความปลอดภัยในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ชีววิทยาด้านโมเลกุล ความมั่นคงทางอาหาร การใช้ประโยชน์จากขยะชีวภาพและการใช้พลังงานจากชีวมวล

 

นอกจากนั้น ยังมีสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอีกหลายแห่ง ได้แก่ (1) The Center of the Regional Hana for Biotechnology and Agricultural Research ภายใต้ Palacky University Olomouc (2) Institute of Experimental Botany of the Czech Academy of Sciences and the Crop Research Institute (3) The Biology Center of the Czech Academy of Sciences (4) the Institute of Microbiology of the Czech Academy of Sciences และ (5) The Institute of Experimental Botany

 

เมื่อปี 2561 สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชีวภาพในเช็กได้ร่วมกันก่อตั้ง Bioeconomy Platform of the Czech Republic โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมความรู้ในเชิงลึก และนำการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพไปสู่การใช้งานในภาคเอกชนและการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาและแลกเปลี่ยนความเห็น และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับกลุ่มผู้สนใจในหลายระดับ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม

 

ทิศทางและความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก

การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพมีความเชื่อมโยงกับแหล่งวัตถุดิบชีวภาพ วัตถุดิบหมุนเวียน ซึ่งการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตและการเพาะปลูกพืชเพื่อนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาลเช็ก อย่างไรก็ดี เทคนิคการพัฒนาพันธุ์พืชและการคิดค้นพืชสายพันธุ์ใหม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางสำหรับประเทศสมาชิกอียูและมีบางประเทศที่เริ่มบังคับใช้มาตรการห้ามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) แล้ว ในขณะที่เช็กยังมีท่าทีผ่อนปรนต่อประเด็นพืช GMOs และยังไม่ได้เริ่มบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าว ซึ่งประเด็นการห้ามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ GMOs อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพันธุ์พืชที่เช็กอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกภายในประเทศ เนื่องจากเช็กมีข้อจำกัดด้านพื้นที่การเกษตรและจำเป็นต้องพึ่งพาการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด

 

ดังนั้นความไม่ชัดเจนของข้อห้ามในการปลูกพืช GMOs กับข้อเรียกร้องของประเทศสมาชิกอียูให้สามารถปลูกพืชประเภท New Breeding Techniques (NBT) จึงเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็กในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ฟังเสียงทูตไทยในปราก“ไม่มีคนไทยในเช็กติดเชื้อโควิด-19”

ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของไทย (ตอน1)

ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของประเทศไทย (ตอนจบ)