คมนาคมVS กทม.. ชักเย่อค่าโดยสาร “สายสีเขียว” ศึกนี้อีกนาน

23 ม.ค. 2564 | 03:45 น.

คมนาคม จับมือ กรมราง เร่งส่งหนังสือถึง กทม.ตอบกลับทุกๆ 15 วัน หวังเดินตามมติครม.ปี 2561  พร้อมตั้ง ปลัดกระทรวง นั่งหัวโต๊ะ คณะกรรมการกลั่นกรอง เคลียร์ปัญหาขยายสัญญาสัมปทาน-เก็บค่าสายสีเขียว แซะ ออกประกาศค่าโดยสารชั่วคราวข้ามหน้า

ปฏิกิริยา กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง(ขร.) พรรคฝ่ายค้าน ดาหน้าออกมาคัดค้าน ปมอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104บาท  หลังกรุงเทพมหานคร(กทม.) ออกประกาศ ให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซีเริ่ม จัดเก็บ ตั้งแต่วันที่ 16กุมภาพันธ์ 2564  เป็นต้นไป อาจสร้างผลกระทบประชาชน  ขณะกทม.ยืนยัน อัตราค่าโดยสารนี้ ได้ปรับลดลงชั่วคราวใน ช่วงสถานการณ์โควิดจากเดิมที่กำหนดไว้ที่158บาท  และ อยู่ระหว่าง ลดภาระคนกรุงอย่างถาวรในราคาไม่เกิน65บาท  หาก คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขสัญญา ขยายสัมปทานให้กับเอกชน  

 

 

ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราว ที่ 104 บาท นั้น เบื้องต้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้สั่งการให้ทางกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางประสานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 เนื่องจากที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ไมได้ปฏิบัติตามมติครม.ให้ครบถ้วน   

 

 

“ส่วนจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้เมื่อไรนั้น เบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาครม.ขึ้นมา โดยมีนายชยธรรม์  พรหมศร  ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขณะเดียวกันเราได้ส่งหนังสือขอข้อมูลไปที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับการตอบกลับหนังสือหรือส่งข้อมูลมาเลย  ทั้งนี้เราได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมทำหนังสือไปขอข้อมูลทุกๆ 15 วัน จนกว่ากรุงเทพมหานคร จะส่งข้อมูลให้เรา แต่กรุงเทพมหานครกลับออกประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราวเอง”

หากกรุงเทพมหานคร ไม่ดำเนินการตามที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือเพื่อให้ตอบกลับ ทางกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการตามอำนาจของกระทรวงฯที่มีตามมติครม. หากกรุงเทพมหานครยืนยันดำเนินการตามประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราวเหมือนเดิมเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ให้ความคิดเห็นทั้ง 4 ข้อ ในที่ประชุมครม.และมีหนังสือถึงกรุงเทพมหานครแล้ว

 

 

ที่ผ่านมาทางกระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือขอข้อมูลเพิ่มเติมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกรุงเทพมหานคร ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้กระทรวงคมนาคมมีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการเสนอความเห็นประกอบพิจาณาของที่ประชุมครม. ประกอบด้วย ปริมาณผู้โดยสาร  การคำนวณอัตราค่าโดยสาร  ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และเกณฑ์ในการปรับอัตราค่าโดยสาร  รายได้ค่าโดยสารและรายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์  มูลค่าการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและส่วนที่เกี่ยวข้อง   ต้นทุนการดำเนินงาน  ค่าจ้างในการบริหารจัดการเดินรถ  ผลตอบแทนการลงทุน ค่าใช้ทางการเงินและส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ  ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่และสัญญาเดิมทั้งหมด  และผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกรณีรัฐดำเนินการเองกับกรณีให้เอกชนดำเนินการ

 

 

สำหรับมติครม.เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561  มีมติรับทราบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร  และให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) รับความเห็นของกระทรวงการคลัง  กระทรวงคมนาคม  สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ทั้งนี้ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) รับโอนกรรมสิทธิ์และการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร บูรณาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมและไม่ก่อให้เกิดเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป  รวมทั้งเร่งรัดดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ให้กรุงเทพมหานครพิจารณากำหนดอัตราค่าแรกเข้าและการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามความคิดเห็นองกระทรวงการคลัง  คมนาคม-กทม.ยื้อค่าโดยสารสายสีเขียว

ขณะเดียวกันให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการ โดยบริหารจัดการเงินรายได้และตั้งงบประมาณของกรุงเทพมหานครให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพิจารณาค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพผู้ใช้บริการ  รวมทั้งบริหารจัดการสัญญาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มีระยะสิ้นสุดพร้อมกันทุกช่วงเพื่อให้กรุงเทพมหานคร สามารถเปิดให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันประมูลการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทั้งสาย เพื่อเป็นการจูงใจให้มีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่อไป

 

 

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอซี ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ได้ เคาะราคาค่าโดยสารลง เหลือ 104บาท จากเดิมที่กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 158 บาท  ซึ่งจะช่วยประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า ลง54บาท ซึ่งกทม.จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ต่อปี เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 ส่งผลให้มีผลขาดทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท 

 

 

ทั้งนี้สาเหตุที่กทม.มีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ชั่วคราวนั้น เนื่องจากปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาทเป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาท ของกทม. ประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดจากการรับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯ  ทั้งนี้ส่วนเงินต้นค่างงานโยธา ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคต ประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนงานระบบใน E&M  ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯ  ประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

 

 

“กทม.ยืนยันว่าภายใต้อำนาจ กทม.พยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด  โดยกทม.จะอธิบายเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อสามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลงทาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด”

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" กทม.ซัด คมนาคม เดือด ยันราคาตั๋ว 104 บาท

ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียวที่ ก.คมนาคมแย้งว่าแพง

กทม.ยื้อค่าตั๋ว "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 104บาท

ทะลวง ทางเข้า-ออก สนามบิน”สุวรรณภูมิ”ลาก ไฮสปีดไปอู่ตะเภา

เคาะแล้ว! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บ 16 ก.พ.