ศธ.ดันพัฒนาศก.รูปแบบใหม่เลือก“โรงเรียน-อาชีวะ”รับนโยบาย

19 ม.ค. 2564 | 11:59 น.

“ศธ.”ขานรับนโยบายรัฐบาล ดัน BCG Economy หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เข้าโรงเรียน-อาชีวะ พร้อมเป็นตัวหลักวางพื้นฐาน ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องสร้างรากฐานให้เยาวชนไทย เผยเตรียมวางพื้นที่ตัวอย่างรับนโยบายแล้ว

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (19 ม.ค.) ว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบนโยบายเหมือนกับทุกๆ  กระทรวง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับ BCG Economy หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

 

 “การที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ จำเป็นต้องปูพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการ และการรับแนวทางการวิจัยจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มา รวมถึงการให้นักเรียน มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องเหล่านี้ มาปลูกฝังและให้เด็กๆ ได้รับทราบถึงแนวทาง ซึ่งเรากำลังจะสร้างเศรษฐกิจด้านนี้ขึ้นมา”

 

 นายณัฏฐพล กล่าวว่า แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศออกมา เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่หากผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คงต้องมีจำนวน หรือมีปริมาณของนักเรียน ที่มีความเข้าใจเรื่องนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้น อันนี้เป็นแนวทางที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการและทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นแนวทางของประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องเป็นกระทรวงหลักในการวางพื้นฐานเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ

 

 ส่วน BCG Economy นั้น นายกรัฐมนตรี คาดหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะสามารถวางแผนงบประมาณ หรือปรับงบประมาณในส่วนของปี 2564 และปี 2565 เพื่อที่จะให้โครงการนี้สามารถดำเนินการได้เลย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประชุมกับหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการเลือกพื้นที่ตัวอย่างในหลายๆ ภูมิภาค หรือในทุก ๆ จังหวัด

 

“เมื่อผมรับฟังมา และรับข้อมูลมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ซึ่งเป็นการวางแผนสำหรับการประชุมเอเปค เราก็คงต้องดูพื้นที่ตัวอย่าง ซึ่งนโยบายนี้ ผมมองว่า ตรงกับโรงเรียนต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการวางฐานไว้เหมือนกัน สำหรับในการที่จะเป็นโรงเรียนระดับชุมชน เพราะโรงเรียนประจำชุมชนของเรา ก็ได้คำนึงถึงบริบทของจังหวัดนั้นๆ พื้นที่นั้นๆ ในการทำตัวอย่างเช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.)หรือ อาชีวะเกษตร ถ้าทำเป็น Excellence Center ก็ต้องนำเอาเรื่อง BCG Economy เข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร” นายณัฏฐพล กล่าว

 

นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับกระทรวงศึกษาธิการ ก็คือ การรับนโยบยาย BCG Economy เพื่อไปผลักดันให้เกิดได้จริง และเพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับเยาวชนไทย