ส.อ.ท.คาดความต้องการใช้เหล็กปี 64 โต 5-8%

19 ม.ค. 2564 | 02:05 น.

ส.อ.ท.คาดความต้องการใช้เหล็กปี 64 โต 5-8% ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยและนโยบาย Made in Thailand ของรัฐบาล

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้เหล็กของไทยปี 64 คาดว่าจะเติบโตจากปี 63 ประมาณ 5-8% หรืออยู่ที่ประมาณ 17-18 ล้านตันซึ่งสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับนโยบาย “Made in Thailand” ที่กรมบัญชีกลาง ได้มีการประกาศกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีกำรจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 (ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา 22 ธันวาคม 2563) ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ ที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้กับส.อ.ท.ซึ่งจะเป็นผลบวกการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้  ได้มีการลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  โดยคาดว่าการปฏิบัติทางกรมบัญชีกลางน่าจะแจ้งและมีผลได้เดือนกุมภาพันธ์นี้ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น  ซึ่งจะรวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กด้วยที่จะเป็นผลดี  เพราะงานก่อสร้างได้กำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนโดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด แม้ว่าในระเบียบใหม่จะเปิดช่องให้มีการนำเข้าได้กรณีที่จำเป็นแต่เชื่อว่าหน่วยงานรัฐจะนำไปสู่ภาคการปฏิบัติได้ตามที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเหล็กยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือระดับราคาเหล็กตลาดโลกที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 63 โดยเฉพาะจากความต้องการของจีนที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าต้องเผชิญกับภาวะโควิด-19 (Covid-19) แต่เศรษฐกิจไตรมาส 2-3 กลับยังขยายตัวได้ดีทำให้จีนมีความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นในปี 63 ถึง 8% เมื่อเทียบกับปี 62 ส่งผลให้จีนมีการนำเข้าเหล็กเกือบทุกประเภทจากต่างประเทศ

ขณะที่หลายประเทศเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยทั้งยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีการปิดเตาถลุงเหล็กไปหลายแห่งจึงผลักดันให้ราคาเหล็กตลาดโลกทุกประเภททั้งเหล็กก่อสร้าง เหล็กทรงแบน เหล็กทรงยาวขยับขึ้นจากปลายปีจนถึงขณะนี้เฉลี่ยกว่า 10% แล้วและมีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่อง

นายนาวา กล่าวต่อไปอีกว่า ปี 64 ต้นปีปัญหาการทุ่มตลาดจากจีนไม่มีแล้วเพราะเขาเองกลับขาดแคลนต้องนำเข้าเมื่อจีนต้องการเพิ่มจึงดันทั้งราคาเหล็ก และวัตถุดิบทั้งสินแร่เหล็ก เศษเหล็กตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่องโดยจีนได้มีการนำเข้าเหล็กปี 63 สูงเป็นประวัติการณ์และจุดที่น่าห่วงคือจีนมีการผ่อนคลายให้มีการนำเข้าเศษเหล็กเพื่อป้องกันขาดแคลนมีผล 1 มกราคม 64 จึงทำให้ราคาเศษเหล็กแพงตามไปด้วยต้นทุนรวมจึงสูงขึ้น โดยในส่วนราคาเหล็กในไทยได้มีการทยอยปรับขึ้นช่วงปลายปีมาแล้วแต่ก็ไม่ได้มากตามตลาดโลกเพราะความต้องการยังต่ำ

อย่างก็ตาม หากมองแนวโน้มราคาเหล็กตลาดโลกน่าจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปี 64 และน่าจะลดความร้อนแรงลงในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากการปิดเตาถลุงเหล็กที่ผ่านมาจากปัญหาความต้องการทั่วโลกที่ลดลงเพราะผลกระทบโควิด-19 กำลังทยอยกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง และคาดว่าจะเริ่มมีการผลิตได้เต็มที่จะเป็นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจของจีนด้วยหากจีนยังต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปัญหาดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ทุเลามากนักดังนั้นยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดฉุดใช้เหล็ก 8 เดือนวูบหนัก

เปิดผลสำรวจผู้บริหาร "ส.อ.ท." ความพร้อมรับมือติดเชื้อโควิด-19 รอบ 2

“ส.อ.ท.” ผนึก “มทร.กรุงเทพ” สร้างบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน

ล็อกดาวน์ “สมุทรสาคร” พ่นพิษ “ส.อ.ท.” เตรียมแผนรับมือด่วน

“ส.อ.ท.” ผนึก “กระทรวงพลังงาน” กระตุ้นลงทุนพลังงานมุ่งอุตสาหกรรมอัจฉริยะ