100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน บทเรียนที่ไทยควรศึกษา

14 ม.ค. 2564 | 04:21 น.

100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน บทเรียนที่ไทยควรศึกษา : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3644 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Communist Party of China) เป็นพรรค การเมืองหลักในการปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 90 ล้านคน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2464 โดย เหมา เจ๋อ ตง กับพวกปัจจุบันเลขาธิการพรรคคือ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดี ผู้นำสูงสุดแห่งประเทศจีนนั่นเอง

ในปี 2564 พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็จะครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรค อันถือเป็นพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่และมีประวัติที่ยาวไกลที่สุดพรรคหนึ่ง เท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ บทเรียน การต่อสู้ ความสำเร็จและความล้มเหลว จนนำพาให้ประเทศจีนก้าวผ่านพ้นมาได้ถึงปัจจุบัน จึงเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าแก่มนุษยชาติ ที่ควรค่าแก่การศึกษา

ช่วงเวลาที่ผู้เขียนอยู่ในวัยหนุ่มสาว กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เคยคิดเคยศึกษาทฤษฎีการปฏิวัติของลัทธิมาร์ก-เลนินและเหมา เจ๋อ ตง โดยเฉพาะแนวทางการปฏิวัติของประเทศจีน ที่เหมา เจ๋อ ตง ได้นำเอาแนวคิดของลัทธิมาร์ก-เลนิน ที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค แห่งสหภาพโซเวียต มาปรับใช้กับการปฏิวัติในประเทศจีน ที่มีสภาพสังคมแบบศักดินา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ล้าหลัง สภาพสังคมเป็นแบบชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนแร้นแค้น มิใช่ประเทศอุตสาหกรรม ที่มีชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ใช้แรงงานเป็นประชาชนส่วนใหญ่ 

ด้วยอุดมการณ์ ลัทธิมากซ์-เลนิน ที่ เหมา เจ๋อ ตง นำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการทหารและนโยบายทางการเมือง จนประสบความสำเร็จในการปฏิวัติจีน แนวคิดของเขาจึงได้รับยกย่องและเรียกรวมว่า “ลัทธิ เหมา เจ๋อ ตง” ซึ่งการเรียนรู้และใฝ่ศึกษาของคนหนุ่มสาวยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็เพื่อคิดต่อสู้และปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมไทยขณะนั้น และภายหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษา คนหนุ่มสาวยุคนั้น ก็ได้เข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อสู้ตามอุดมการณ์ปฏิวัติของตน 

แต่การต่อสู้ครั้งนั้นก็มิได้สำเร็จหรือได้รับชัยชนะเช่นการปฏิวัติของจีน สงครามการปฏิวัติในประเทศไทย ได้สงบลงด้วยพระบารมีของรัชกาลที่ 9 และนโยบาย ตามคำสั่ง 66/2523 ในยุคสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดังเป็นที่ทราบกันดี ในที่สุดเส้นทางการเมือง การปกครองของไทย จึงปรากฏให้เห็นและเป็นไปดังปัจจุบัน
 

100 ปี บนเส้นทางการปฏิวัติของประเทศจีน เป็นบทเรียนสำคัญบทหนึ่งของมนุษยชาติที่เราควรได้ศึกษาและเรียนรู้ เพื่อนำบทเรียนที่ดีและที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มาปรับใช้กับประเทศของเราไปพร้อมกับการศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวของประเทศประชาธิป ไตยแบบอเมริกา ที่คนในโลกส่วนใหญ่เคยนิยมยกย่องมาเปรียบเทียบด้วย เพราะประชาธิปไตยแบบจีน ก็สามารถสร้างประเทศ สร้างชาติ นำความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้ตะวันตกแต่อย่างใด

100 ปี ของพรรค และ ก้าวสู่ปีที่ 72 ของการปกครองประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้ผู้นำ 5 รุ่น ที่นำทัพฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนสามารถพลิกโฉมหน้าประเทศจีน จากที่ยากจนแร้นแค้นและล้าหลังที่สุด จนสามารถผงาดขึ้นมาเป็นประเทศมหา อำนาจสำคัญของโลก ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว สำหรับประเทศที่มีพื้นที่อันกว้างใหญ่ ประชากรถึง 1,400 ล้านคนนั้น ย่อมเป็นเรื่องอัศจรรย์และไม่ธรรมดา

ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ยืนยันว่า ประเทศจีนมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีพลวัตรสูง และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (economic powerhouse) ของภูมิภาคและของโลก นับแต่ปี 2553 จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ และมีทุนสำรองมากที่สุดในโลก และเป็นที่คาดหมายกันว่าไม่เกิน 5 ปีจากนี้ไป จีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจโตเป็นอันดับ1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐค่อนข้างแน่นอน เพราะภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเศรษฐกิจติดลบถดถอย แต่มีเพียงประเทศจีนเท่านั้น ที่ยังรักษาอัตราการเติบโตของ GDP เป็นบวกไว้ได้ นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบอบการปกครองแบบไหน อย่างไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่ระบอบการปกครองแบบใด ที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญต่างหาก

100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สร้างบทเรียนและปรากฏการณ์มากมายไว้ให้ศึกษา อยู่ที่แต่ละประเทศหรือผู้นำของแต่ละชาติ จะมีความกล้าหาญและถ่อมตัวเรียนรู้จากผู้อื่นหรือไม่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้จะปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ยึดถือทฤษฎีของลัทธิมากซ์-เลนิน และเหมา เจ๋อ ตง  แต่ก็มีการประยุกต์ปรับตัวนำระบบกลไกตลาดแบบทุนนิยมมาใช้อย่างเหมาะสม เน้นการปฏิบัติที่เห็นผล ไม่ลอกตำราตามก้นฝรั่งแบบหน้ามืดงมงาย จนจีนสามารถสร้างเป็นระบอบสังคมนิยมหรือประชาธิป ไตยแบบอัตลักษณ์จีน (Socialism with chinese Characteristics) มีรูปแบบและวิธีบริหารของตนเอง ภาษาซ้ายเรียกว่า “ทะลวงจุดหนึ่ง ทลายทั้งแนว” คือจีนชอบจะทำการทดลองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้เห็นผล แล้วค่อยนำไปชี้นำให้ปฏิบัติทั่วประเทศ โดยการประยุกต์และปรับใช้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
 

พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คิดการใหญ่ มีสายตาที่ยาวไกล ยึดประโยชน์ชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ผู้นำวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ และมีความมุ่งมั่นปฏิบัติให้สำเร็จตามเป้าหมาย อย่าง เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็เป็นเรื่องสี่ทันสมัย มาถึงยุค สี จิ้น ผิง ก็ประกาศยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt,One Road) เป็นต้น เมื่อผู้นำประกาศยุทธศาสตร์หรือนโยบายใด ทุกองคาพยพก็จะรวมศูนย์กำลังในการปฎิบัติให้ปรากฏเป็นจริง การประเมินความสามารถของผู้นำและบุคลากร ใช้ผลงานและความสำเร็จเป็นตัวชี้วัด 

ที่สำคัญที่สุดที่นำพาประเทศจีนก้าวสู่ความสำเร็จคือ การที่ผู้นำประเทศปลูกฝังให้คนจีนรักชาติ ภูมิใจในความเป็นคนจีน สร้างความรักและความสามัคคี ร่วมมือกันฟื้นฟูชาติจีนสู่ความยิ่งใหญ่ โดยผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง แม้ประเทศจีนจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ประเทศจีนก็มีผู้นำที่ซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ความรู้ความสามารถ รักประเทศชาติยิ่งชีพและซื่อสัตย์ต่อประชาชน

100 ปี แห่งการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีผู้นำผ่านมาแล้ว 5 รุ่น ได้แก่ เหมา เจ๋อ ตง, เติ้ง เสี่ยว ผิง, เจียง เจ๋อ มิง, หู จิ่น เทา และสี จิ้น ผิง ที่ได้ส่งต่ออำนาจและมีส่วนสำคัญในการสร้างชาติจีน จึงเป็นแบบอย่างและบทเรียนที่ทรงคุณค่า สำหรับบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย รวมถึงบรรดาผู้นำประเทศต่างได้ศึกษา หนทางในการสร้างชาติมิได้มีเพียงเส้นทางเดียว

ประเทศไทยมีลักษณะและสภาพทางสังคมที่ใก้ลเคียงกับจีนมาก และรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน ก็เป็นไปในลักษณะแบบประชาธิปไตย ที่รวมศูนย์อำนาจ แตกต่างกันเพียงจีนมี ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เป็นผู้นำประเทศ ส่วนไทยมีผู้นำคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง หากนายกรัฐมนตรีไทย ปรับเปลี่ยนแนวคิด ยึดถือแนวทางแบบ สี จิ้น ผิง บ้าง ไม่แน่ไทยอาจเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจโตเป็นอันดับสามของโลกก็ได้ น่ะครับจะบอกให้