พม.เผยตัวเลขเหยื่อความรุนแรงในครอบครัววันละ 43 ราย เด็ก-เยาวชนถูกกระทำมากสุด

13 ม.ค. 2564 | 04:23 น.

พม.รายงานครม.ปี62เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว 1.5 หมื่นราย เฉลี่ย 43 รายต่อวัน พบกว่า 5.5 พันราย หรือ 1 ใน 3 เป็นเด็กและเยาวชน ถูกกระทำมากสุด

 

วันที่ 13 มกราคม 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องจัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อรับทราบปีละ 1 ครั้ง ซึ่งข้อมูลประกอบการรายงานได้รวบรวมจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมีประเด็นหลักดังนี้

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,797 ราย หรือเฉลี่ย 43 รายต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 14,523 ราย เพศชาย 1,265 ราย เพศทางเลือก 9 รายพิจารณาจากเกณฑ์อายุ 3 อันดับแรก  เด็กและเยาวชนที่มีอายุ 10 - 20 ปี จำนวน 5,553 ราย, ช่วงอายุ 20 - 30 ปี จำนวน 2,863 ราย และช่วงอายุ 30 - 40 ปี จำนวน 2,478 ราย นอกจากนี้ ผู้กระทำความผิด 3 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว คือ สามีภรรยา จำนวน 4,720 ราย (ร้อยละ 29.88) แฟน จำนวน 3,852 ราย (ร้อยละ 24.38) และอื่นๆ เช่น คนรู้จักทางFacebook แฟนเก่า เพื่อนของญาติ ฯลฯ จำนวน 1,704 ราย (ร้อยละ 10.79) 


คดีความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวม 174 คดี สั่งฟ้อง 145 คดี สั่งไม่ฟ้อง 13 คดี ยุติการดำเนินคดีในชั้นสอบสวน 16 คดี และมีคดีขึ้นสู่ชั้นศาลจำนวน 52 คดี โดยศาลยุติธรรมมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ 1 คำสั่ง และยอมความในชั้นพิจารณาคดี 4 เรื่อง

 

สำหรับการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงและส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งประกอบด้วย 1) พัฒนาศักยภาพของครอบครัว 2) สร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัว 3) การบริหารจัดการที่เอื้อต่อความเข้มแข็งของครอบครัว 4) ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมเพื่อพัฒนาครอบครัว และ 5)พัฒนากระบวนการสื่อสารสังคมเพื่อพัฒนาครอบครัว  

 

ส่วนแนวทางการดำเนินงานในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เช่น 1) ส่งเสริมสหวิชาชีพและเครือข่ายด้านครอบครัวไทยปลอดความรุนแรง 2) เสริมสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 3) สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 4)สร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัว 5) ปรับปรุงกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว