‘เป๋าตัง’จุดติดต้องไปต่อ สู่แพลตฟอร์มแห่งชาติ

13 ม.ค. 2564 | 07:30 น.

คนไทยติดแอพ"เป๋าตัง" กูรูดิจิทัล เชียร์รัฐผนึกเอกชนลุยต่อยอดสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลแห่งชาติ กรุงไทย เดินหน้าจับมือพาร์ทเนอร์ สตาร์ทอัพ พัฒนา Visaul ID,Digital Asset, Digital Commerceและ Digital Lending

เป็นครั้งแรกที่แอพที่พัฒนาโดยคนไทย อย่าง "เป๋าตัง" มีผู้ใช้บริการมากถึง 40 ล้านคน จริงอยู่ตัวเลขแม้ตัวเลขผู้ใช้มหาศาลเกิดจากการใช้เพื่อรับสวัสดิการช่วยเหลือภาครัฐ ผ่านโครงการผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ 14.6 ล้านคน, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 7.3 ล้านคน เข้าถึงโรงแรมที่พัก 8,514 แห่ง ร้านอาหาร 67,527 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว 2,098 แห่ง สปาหรือร้านนวดเพื่อสุขภาพ 204 แห่ง, โครงการชิมช้อปใช้ 10 ล้านคน ร้านค้า 97,655 แห่ง และโครงการคนละครึ่ง 15 ล้านคน ร้านค้า 1.1 ล้านแห่ง ท่ามกลางการระบาดโควิด ยอดการใช้จ่ายแอพเป๋าตัง ไม่ได้ลดลง โดยมีการทำธุรกรรม 7 ล้านต่อรายการต่อวัน มียอดการใช้จ่ายของประชาชนราว 1 พันล้านบาท

แต่เป็นจุดเริ่มต้นของไทยในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะนอกจากจะช่วยให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้เกิดความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีของคนไทย นอกจากนี้ภาครัฐ ได้ข้อมูลมหาศาล หรือ บิ๊กดาต้า ของประชาชน และร้านค้า ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดไปมหาศาล ทั้งมาตรการช่วยเหลือ หรือสวัสดิการต่างๆ กับประชาชน และมาตรการส่งเสริม สนับสนุนร้านค้า หรือภาคธุรกิจ

ที่สำคัญตอนนี้หลายคนในวงการดิจิทัลและสตาร์ทอัพ ไม่ต้องการเห็นแอพ “เป๋าตัง” เป็นเพียงช่องทางการรับสวัสดิการภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องการให้ผลักดันออกไปสู่แพลตฟอร์ม หรือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ โดยดึงความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เข้าสร้างเป็นระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็ม สำหรับบริการดิจิทัลของประเทศ ทั้งบริการดิจิทัลภาครัฐ และภาคเอกชน บริการทางการแพทย์ อี-คอมเมิร์ซ และระบบขนส่งมวลชน โดยมี แอพอี-วอลเล็ต “เป๋าตัง” และระบบการชำระเงิน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการทำธุรกรรมดิจิทัลต่างๆ

‘เป๋าตัง’จุดติดต้องไปต่อ สู่แพลตฟอร์มแห่งชาติ

โดยนายกฤตธี ศิริสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร deeple โปรแกรมเมอร์ที่มีดีกรีแชมป์โลกการประกวดซอฟต์แวร์ Worldwide Imagine Cup 2010 และผู้พัฒนา deeple AI Chatbot กล่าวว่าในมุมมองของนักพัฒนาเทคโนโลยีนั้นมองว่าแอพเป๋าตัง ซึ่งเป็นดิจิทัลวอลเล็ตนั้นควรเป็นตัวกลางการเชื่อมต่อบริการดิจิทัลต่างๆ โดยอาจเริ่มจากบริการภาครัฐ เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่านํ้า ค่าไฟ ชำระภาษี ต่อทะเบียน ก่อนต่อยอดไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้กับภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี เพื่อลดการพึ่งพาแอพจากต่างประเทศ อย่ามองว่าภาครัฐ ทำ “เป๋าตัง” ออกมาแข่งกับเอกชน เพราะวันนี้ภาคธุรกิจเอง เสียค่าฟี ให้กับแอพต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่สูงมาก

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ยกตัวอย่างการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการใช้งานแพร่หลายในจีน โดยดิจิทัลวอลเล็ตอย่างอาลีเพย์และวีแชตเพย์ เป็นเกตเวย์ เชื่อมต่อให้เข้าถึงบริการต่างๆของภาครัฐ เช่น การจองพบแพทย์ในโรงพยาบาล “เป๋าตัง” ควรเป็น “ซิงเกิล เกตเวย์” ให้คนไทยเข้าถึงบริการดิจิทัลต่างๆของภาครัฐและเอกชน ลดการพึ่งพาแอพจากต่างชาติ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหนึ่งในแผนธุรกิจธนาคารกรุงไทยปี 2564 คือ การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่บนยุทธศาสตร์ของเรือเร็ว ผ่านบริษัทอินฟินิธัส (อินฟินิธัส บาย กรุงไทย) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดนวัตกรรม หลายซีรีส์อาทิ Visaul ID,Digital Asset, Digital Commerceและ Digital Lending โดยเปิดรับพาร์ทเนอร์หรือสตาร์ทอัพ พัฒนานวัตกรรมมาเสริมร่วมกันต่อยอด หรือเชื่อมต่อกับ (Open Platform)อื่นๆ โดยเฉพาะการมีฐานผู้ใช้ 40 ล้านคนในแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง”ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของประเทศและตอบโจทย์มีส่วนร่วมกับคนไทยทุกภาคส่วน จากวิสัยทัศน์เริ่มต้นด้วยสิทธิพื้นฐานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกิจกรรมหลากหลายบน 5 อีโคซิสเต็ม ประกอบด้วย1.กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ2.กลุ่มการชำระเงิน 3.กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ 4.กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียนและ5.กลุ่มระบบขนส่ง ซึ่งต่อไปจะช่วยผู้ประกอบการคนตัวเล็กและคนไทยทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ไตรมาสแรกปี 2564 บริษัทอิฟินิธัส บาย กรุงไทย จะนำร่องดิจิทัลคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานผู้ใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยนำสินค้า 20 ประเภท มาขายบนแพลตฟอร์ม ในรูปแบบของการเล่าเรื่องเป็น Story Telling เพื่อช่วยคนไทยสินค้าไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กๆได้มีโอกาสค้าขายบนแพลตฟอร์มและมีรายได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าขนส่งสินค้าที่สูงกว่าราคาสินค้า

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564