ราชกิจจาฯประกาศระเบียบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของ กมธ.

12 ม.ค. 2564 | 23:00 น.

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2564 แล้ว

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๖๔

 

โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

 

อาศัยอํานาจตามความในข้อ ๔ ข้อ ๙๒/๑ วรรคหนึ่ง และข้อ ๙๖ วรรคสี่ แห่งข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๖๔”

 

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้

 

“ คณะกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญประจําสภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร

 

“คณะอนุกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมาธิการที่คณะกรรมาธิการ ตั้งเพื่อพิจารณาปัญหาอันอยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมาธิการ

 

“การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมคณะกรรมาธิการหรือ คณะอนุกรรมาธิการที่ผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและ แสดงความคิดเห็นระหว่างกัน ตลอดจนร่วมกันลงมติ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กันได้ในเวลาเดียวกัน

 

“ผู้ร่วมประชุม” หมายความว่า กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ซึ่งประธานของที่ประชุมอนุญาต

 

“สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ให้บริการระบบควบคุมการประชุม

 

ข้อ ๔ ในกรณีที่ประธานคณะกรรมาธิการหรือประธานคณะอนุกรรมาธิการได้กําหนดให้ การประชุมครั้งใดเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ระบุเหตุอันสมควรไว้ในหนังสือนัดประชุมด้วย

 

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ส่งหนังสือนัดประชุมที่ไม่ได้กําหนดให้เป็น การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว ให้ประธานคณะกรรมาธิการหรือประธานคณะอนุกรรมาธิการ บันทึกเหตุอันสมควรนั้นไว้เป็นหนังสือก่อนเริ่มการประชุม

 

ข้อ ๕ ในการจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้สํานักงานเป็นผู้ดําเนินการ โดยอย่างน้อย ต้องมีกระบวนการ ดังต่อไปนี้

 

(๑) การแสดงตนของผู้ร่วมประชุม

 

(๒) การสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กันได้ด้วยเสียงและภาพ

 

(๓) การเข้าถึงเอกสารประกอบการประชุมของคณะกรรมาธิการ หรือคณะอนุกรรมาธิการ

 

(๔) การลงมติหรือการออกเสียงลงคะแนนของกรรมาธิการ หรืออนุกรรมาธิการ

 

(๕) การจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึง การบันทึกเสียงและภาพ หรือเสียง แล้วแต่กรณี ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุม เว้นแต่เป็นการประชุมลับ

 

(๖) การจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของการประชุม (๗) การแจ้งเหตุขัดข้องในระหว่างการประชุม

 

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สํานักงานอาจใช้ระบบควบคุมการประชุมของตนเอง หรือของผู้ให้บริการก็ได้

ข้อ ๖ การแสดงตนของผู้ร่วมประชุมตามข้อ ๕ (๑) ซึ่งแสดงตนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สํานักงานอาจใช้เทคโนโลยีช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ร่วมประชุม เช่น การยืนยันตัวตน ด้วยชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) หรือการใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time password) เป็นต้น หรือวิธีการอื่นที่สามารถยืนยันตัวตนของผู้ร่วมประชุมก็ได้

 

การแสดงตนตามวรรคหนึ่ง ให้สํานักงานพิจารณาเลือกใช้วิธีการที่มีความมั่นคงและรัดกุม ตามความเหมาะสมกับการประชุม โดยคํานึงถึงพฤติการณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสะดวก ในการเข้าถึงของผู้ร่วมประชุม จํานวนของผู้ร่วมประชุม ประเภทของระเบียบวาระ เป็นต้น

 

ข้อ ๗ การสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กันได้ด้วยเสียงและภาพตามข้อ ๕ (๒) ให้ดําเนินการ ด้วยช่องสัญญาณที่เพียงพอรองรับการถ่ายทอดเสียงและภาพได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ที่มีการประชุม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงผู้ร่วมประชุมที่มิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันให้สามารถประชุม ปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ในเวลาเดียวกัน

 

ให้สํานักงานจัดเตรียมและกําหนดวิธีการประชุมสํารองซึ่งสามารถใช้สื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ได้เช่นเดียวกับวรรคหนึ่ง เพื่อใช้ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องในระหว่าง การประชุม

 

ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องในระหว่างการประชุมทําให้ไม่อาจสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กันด้วยเสียง และภาพได้ในบางช่วงเวลา ถ้าในระหว่างช่วงเวลานั้นยังสามารถสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กันได้ด้วยเสียง ก็ให้ถือว่าการประชุมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นกระบวนการตามข้อ ๕ (๒) ด้วย

 

ข้อ ๘ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการจัดการสิทธิของผู้ร่วมประชุมโดยมีวิธีการ ที่ประธานในที่ประชุมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประธานในที่ประชุมให้เป็นผู้ควบคุมระบบควบคุม การประชุม สามารถงดการถ่ายทอดทั้งเสียงและภาพเป็นการชั่วคราว หรือหยุดการส่งหรือรับข้อมูลจาก ผู้ร่วมประชุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ทันที หากมีเหตุจําเป็นหรือมีกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อมีการพิจารณา เรื่องที่ผู้ร่วมประชุมมีส่วนได้เสียในการประชุม เป็นต้น

 

คลิกอ่าน: ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ