ปลดล็อกเลื่อนจองโรงแรม รับ“เที่ยวด้วยกัน”อลหม่าน

13 ม.ค. 2564 | 19:00 น.

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับการจำกัดการเดินทาง และการขอความร่วมมือให้หยุดเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ ส่งผลกระทบต่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเต็มไปด้วยความอลหม่าน เมื่อนักท่องเที่ยวประสงค์ที่จะยกเลิก หรือเลื่อน การเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการผ่านระบบได้

 

เร่งปลดล็อกระบบรองรับ

 

ขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่ระหว่างการปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้น ที่จะดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เสนอครม.เพื่อขยายระยะเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จากที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน2564 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 2.การประสานกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับปรุงระบบให้สามารถเลื่อนการจองผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในอีก 2-3 สัปดาห์จึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ

 

ปัจจุบันการยกเลิกการจองที่เกิดขึ้น จากข้อมูลของ ascend Travel (ธุรกิจ OTA ในเครือซีพี) ซึ่งเป็นหนึ่งใน OTA ที่เข้าร่วมการขายในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” พบว่ามีการทยอยขอยกเลิกการจองที่พักในภาคกลาง 24.9% ภาคเหนือ 23.81% ภาคใต้ 16.62% ภาคตะวันออก 15.23% ภาคตะวันตก 6.19% และภาคอีสาน 13.81%

 

ทั้งนี้ปัญหาที่นักท่องเที่ยวมีความกังวลมากต่อการยกเลิกหรือเลื่อนการจองห้องพัก หลักๆจะมี 3 ประเด็น คือ 1. ลูกค้ากลัวเสียสิทธิ์ในระบบโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากการจองเลื่อนในระบบไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากจากคูปองต่างๆ 2. การเลื่อนวันเข้าพักต่างๆ ลูกค้าไม่ประสงค์จะเสียค่าส่วนต่าง และ 3. ประสงค์ที่จะเลื่อนวันเข้าพักได้แบบไม่มีกำหนด แต่อยากรักษาสิทธิ์ที่จองได้

 

ดังนั้นทางออกเฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ ททท.ได้ขอให้สมาคมโรงแรมไทย ประสานไปยังสมาชิกขอให้ ทุกโรงแรมรับการเลื่อนจองของประชาชนเอาไว้ก่อน ซึ่งอาจจดเป็นรายละเอียดหลักฐานเอาไว้ (ทำแบบแมนนวลไปก่อน) เพราะตอนนี้ระบบกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ยังไม่สามารถทำการเลื่อนผ่านระบบได้

 

เมื่อปรับปรุงระบบเสร็จก็จะมาแจ้งในระบบอีกที และในระหว่างนี้ททท.จะรับประกันให้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ททท.พร้อมรับผิดชอบแทน โดยเฉพาะเงินส่วนต่างที่โรงแรมจะได้รับ 40% จากรัฐบาล

อัปเดทโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

 

ส่วนการยกเลิกการจองให้เป็นดุลยพินิจของโรงแรมนั้นๆ ซึ่งบางโรงแรมอาจจะให้ยกเลิกได้แบบมีเงื่อนไข เช่น ไม่คืนเงินที่ลูกค้าจ่ายมาแล้ว 60% แต่จะให้เก็บเป็นเครดิตมาใช้ในภายหลัง หรือบางโรงแรมก็ให้ยกเลิกการจองได้ทันที เพื่อรักษาฐานลูกค้าในอนาคต หรือบางโรงแรมแจ้งปิดกิจการชั่วคราว อย่างโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ พัทยา ที่แจ้งปิดชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ ก็ยกเลิกการจองของลูกค้าในช่วงที่ปิดกิจการชั่วคราว หรือบางโรงแรมไม่อนุญาตให้ยกเลิก แต่พร้อมช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น

 

เลื่อนเข้าพักได้ถึง 30 เม.ย.64

 

ทั้งนี้สำหรับการเลื่อนจองนั้น เบื้องต้นรัฐจะขอให้เลื่อนการจองและเข้าพักได้ถึง 30 เมษายน2564 โดยให้ติดต่อโรงแรมโดยตรง ซึ่งจะให้เลือนได้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ ส่วนการเลื่อนจองที่พัก หากเลื่อนไปตรงกับช่วงเทศกาลที่ราคาที่พักเพิ่มขึ้นจากช่วงที่จองไปก่อนหน้านั้น เบื้องต้นประชาชนต้องจ่ายส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นเอง

 

ขณะที่หากลูกค้าจองที่พักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ OTA ก็ให้นักท่องเที่ยวเลื่อนจองผ่านโรงแรมอย่างเดียวเช่นกัน ซึ่ง OTA ได้รับทราบในเรื่องเหล่านี้แล้ว

สำหรับกรณีที่ลูกค้าจองไว้แล้ว ไม่เลื่อนไม่ยกเลิก แต่ไม่เข้าพักเลย หรือถ้ามีลูกค้าเลื่อนหรือยกเลิกการจองโรงแรมก็จะไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 40% เพราะโรงแรมจะได้ เมื่อเกิดการเข้าพักจริง ๆ เพราะลูกค้าต้องแสดงคิวอาร์โค้ดตอนเข้ามาเช็คอิน

 

บุ๊กกิ้งตั้งแต่ 1 ธ.ค.63 เลื่อนได้

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสภาพัฒน์ จะนำเรื่องการขยายเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เข้าครม.ในวันที่ 12 มกราคม 2564 โดยขยายเวลาโครงการ จากสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 ไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2564 รวมถึงการเปิดทางให้นักท่องเที่ยวที่จองห้องพักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เบื้องต้นสามารถเลื่อนการจองที่พัก (เข้าพัก) ได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยให้เลื่อนได้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร

 

ทั้งนี้การเลื่อนการจองประชาชนจะต้องติดต่อกับทางโรงแรมโดยตรง เนื่องจากในช่วงแรกต้องทำระบบ Manual ไปก่อน ระหว่างรอให้  KTB ปรับปรุงระบบที่คาดว่าจะเปิดให้แจ้งเลื่อนผ่านระบบได้ในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์2564 ซึ่งที่เข้าครม.จะเป็นเรื่องของการเลื่อนการเข้าพักเป็นหลัก นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

อย่างไรก็ตามโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ผ่านมาจัดว่าเป็นเรือธงสำคัญ ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนการเดินทางเที่ยวในประเทศ ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้ธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาขยับได้ในหลายพื้นที่ โดย ณ วันที่ 6 มกราคม2564 มีการใช้จ่ายในโครงการนี้ไปแล้ว 19,810.02 ล้านบาท

 

โดยเป็นงบในส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนค่าที่พัก คูปอง (อี-เวาเชอร์) บัตรโดยสาร 40% อยู่ที่ 7,834.3 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณอยู่ที่ 7,165.7 ล้านบาท จากงบประมาณในโครงการ “เราเที่ยวกัน” 15,000 ล้านบาท (ตัดออกไป 5 พันบาท เพื่อใช้ในการผลักดันโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” แต่ต้องชลอไว้ก่อน) และเป็นการใช้จ่ายของประชาชน ที่เป็นค่าที่พัก อี-เวาเชอร์ บัตรโดยสาร รวม 12,644.32 ล้านบาท

 

การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ก็ทำให้เกิดการชะงักงันด้านการท่องเที่ยว เพราะไม่เพียงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการยกเลิกหรือเลื่อนเกิดขึ้น แต่ในส่วนของการจองใหม่ ที่ก่อนหน้านี้รัฐมีการเพิ่มเข้ามาอีก 1 ล้านสิทธิ์ (1 ล้านคืน) รวมเป็น 6 ล้านสิทธิ์ หลัง 5 ล้านสิทธิ์ถูกจองเต็มไปแล้ว ก็มียอดการจองใหม่แผ่วลงอย่างชัดเจน โดย ณ วันที่ 6 มกราคม 2564 มีจำนวนสิทธิ์ที่พักเหลืออยู่ 684,697 สิทธิ์ มีจำนวนสิทธิ์ตั๋วเครื่องบินเหลือ 1,485,438 สิทธิ จาก 2 ล้านสิทธิ์

 

โควิดรอบนี้จึงทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว กลับต้องเผชิญกับภาวะดิ่งลงเหวอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เห็นชอบ ขยายเวลาใช้สิทธิ์ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถึงเม.ย. 64

ครม.เคาะแล้ว “คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน” ยกเว้นภาษีเงินได้

“เราเที่ยวด้วยกัน”เปิด 5 เงื่อนไขผู้มีสิทธิ์เลื่อนเข้าพักหนีโควิด