เจาะลึก"อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย"ปี 2564-2566 โอกาสขยายตัว 4%

11 ม.ค. 2564 | 20:00 น.

เปิดปัจจัยสนับสนุน"อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย"ปี 2564-2566 นักวิเคราะห์มั่นใจมีแนวโน้มเติบโต 4 % แต่ให้จับตาปัจจัยเสี่ยง ปัญหาการเมืองสหรัฐ-จีน ,การขึ้นภาษีนำเข้าของฟิลิปปินส์, นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลกระทบกับการส่งออก

วิจัยกรุงศรี ได้วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การผลิตรถยนต์หดตัวลงประมาณ 32-33% อยู่ที่ 1.35-1.37 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดจำหน่ายในประเทศลดลง 30-31% หรือประมาณ 7 -7.1แสนคัน  และปริมาณส่งออกลดลง 34-35% อยู่ที่ 6.9-7 แสนคัน

 

ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2564-2566 การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0%  โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่  ยอดขายในประเทศที่จะมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวดีอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์ 

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของยอดขายมีแนวโน้มจำกัด เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามทิศทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

 

ขณะที่ตลาดส่งออกรถยนต์นั้น คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4.0-5.0%  โดยมีปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนช่วยหนุนการส่งออกในภูมิภาค ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับผลตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนจะช่วยลดขั้นตอนการถูกตรวจสอบซ้ำ 

 

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ประกอบไปด้วย ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ (หนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญ) อาจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากไทยเพื่อตอบโต้ข้อพิพาททางการค้า (กรณีไทยกล่าวหาฟิลิปปินส์สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าต่ำเกินจริง ซึ่ง WTO ตัดสินให้ไทยแพ้คดี) รวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน

เมื่อเจาะลึกมายังหน่วยธุรกิจต่างๆของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในส่วนของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ หรือ ดีลเลอร์ คาดว่าในช่วง 3 ปี (2564-2566)รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตจำกัด โดยรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะขยายตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ (คาดเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี)


ขณะที่รายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีแนวโน้มหดตัวตามการลดลงของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุน้อยกว่า 5 ปี แม้จะมีความต้องการซ่อมบำรุงรถยนต์ตามอายุ/ระยะทาง แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ใช้รถบางส่วนอาจเปลี่ยนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป


นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของค่ายรถยนต์ อันประกอบด้วย  นโยบายให้ตัวแทนจำหน่ายลงทุนปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้มาตรฐาน จะเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ และ  นโยบายรุกตลาดออนไลน์มากขึ้น อาจกดดันภาวะการแข่งขันระหว่างตัวแทนจำหน่ายให้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย


ส่วนตลาดรถมือสองนั้น ช่วง 9 เดือนแรกซบเซา ผู้ประกอบการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสต๊อก เนื่องจากต้องการลดภาระค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีราคารถมือสองอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้จูงใจผู้บริโภค ประกอบกับผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการใช้รถสาธารณะที่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตัดสินใจเลือกซื้อรถมือสอง


อย่างไรก็ดีแนวโน้มของตลาดรถมือสองในปี 2564-2566 นั้น คาดว่าจะเติบโตตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ โดยราคารถยนต์มือสองจะทยอยปรับขึ้น เนื่องจากอุปทานรถยนต์เก่าในโครงการรถคันแรกจำหน่ายเข้าสู่ตลาดในอัตราที่ชะลอลง (หลังจำหน่ายเข้าสู่ตลาดในอัตราเร่งเมื่อปี 2560-2562)


 ทั้งนี้ ภาวะการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น จากการขยายธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือของค่ายรถ และอาจกดดันผลประกอบการของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME