คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล้าน ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (4)

10 ม.ค. 2564 | 03:00 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล้าน ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (4) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3643 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 ม.ค.64 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท
 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่ายซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ
 

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า “ไม่ผูก ขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด” กันเป็นตอนที่ 4 วันนี้มาติดตามกันในหังข้อที่ 4. เรื่องผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน (Coordinated Effect)
 

การพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน (Coordinated Effect) จะพิจารณาว่า ภายหลังการรวมธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจกัน มีโอกาสที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในทางที่มิชอบ เพื่อการลดหรือจำกัดการแข่งขันในตลาด อันเป็นผลเสียต่อผู้ค้าหรือคู่แข่งหรือไม่ โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนของผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบและผลกระทบต่อคู่แข่ง


ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดภายหลังการรวมธุรกิจ ที่ผู้รวมธุรกิจจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 83.05 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมาก  จึงไม่มีแรงจูงใจในการร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ซึ่งเป็นรายย่อย (เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง ในตลาดน้อยกว่าผู้ขออนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ)
 

ดังนั้น โอกาสในการตกลงร่วมกันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ในการสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ(Supplier) เพื่อสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตสินค้า หรือวัตถุดิบจึงมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากยังมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาด
 

สำหรับ ผลกระทบต่อคู่แข่ง เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดภายหลังการรวมธุรกิจที่ผู้รวมธุรกิจ จะมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 83.05 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกับคู่แข่งรายอื่นอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจไม่มีแรงจูงใจ ในการร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจคู่แข่งรายอื่นซึ่งเป็นรายย่อย ในการร่วมมือกันกำหนดราคา ปริมาณผลิต  การจำหน่าย พื้นที่การจำหน่าย หรือคุณภาพการให้บริการ อันจะส่งผลให้คู่แข่งรายอื่นที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการร่วมมือดังกล่าว ได้รับผลกระทบจนกระทั่ง ทำให้ต้องออกจากตลาดไปในที่สุด
 

การรวมธุรกิจนี้ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อคู่แข่งหรือผู้บริโภค เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่ผู้รวมธุรกิจจะมีการตกลงร่วมกัน กับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
 

5. ผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจและผู้บริโภค  แม้การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกขนาดเล็กของผู้รวมธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการกระจุกตัวของตลาดสูง แต่ไม่น่าจะถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการซื้อธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ อีกทั้งเป็นการคงไว้ซึ่งช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายช่องทางการกระจายสินค้า ไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ผู้ผลิตสินค้าในพื้นที่ และผู้ประกอบธุรกิจท้องถิ่น มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น
 

และยังก่อให้เกิดการเพิ่มการจ้างงาน เพื่อขยายกำลังการผลิต ให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคให้มีโอกาสในการเข้าถึงสินค้า ที่มีคุณภาพและราคาที่ดี ตามช่องทางการจำหน่ายที่มีมากขึ้น
 

นอกจากนี้ อาจเป็นโอกาสให้ผู้รวมธุรกิจสามารถขยายการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การรวมธุรกิจนี้จึงไม่ส่งผล กระทบต่อประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
 

สำหรับผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภค การรวมธุรกิจนี้เป็นการรวมธุรกิจระหว่าง ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีจำนวนสาขามากที่สุดสองอันดับแรก ซึ่งย่อมจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขันและทางเลือกในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค เนื่องจากภายหลังการรวมธุรกิจ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาด มีจำนวนลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีก ขนาดเล็กน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า รวมถึงชนิดและปริมาณของสินค้าที่จำหน่ายเพิ่มมากขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ในตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของตลาดและจำนวนผู้บริโภคในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
 

ดังนั้น แม้การรวมธุรกิจนี้จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขันและทางเลือกในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภค มีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่น้อยลง แต่ผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ในตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทดแทนได้


6. ผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด จะพิจารณาทั้งในส่วนของผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผลกระทบต่อการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากการรวมธุรกิจนี้ เป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก 
 

อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาต มีอำนาจเหนือตลาด และมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ(Supplier) มากยิ่งขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบรายใหญ่
 

สำหรับผลกระทบต่อการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือ มีการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง จำนวน 2 ธุรกิจ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสดและอาหารแปรรูป และบริษัท ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการงานด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า การรวมธุรกิจนี้จึงอาจก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทานใน 2 กรณี
 

1) คู่แข่งของผู้ขออนุญาต อาจถูกจำกัดการเข้าถึงสินค้าหรือบริการของซีพีเอฟ กล่าวคือ ซีพีเอฟอาจลดหรือยกเลิกการจำหน่ายสินค้าของตน ให้กับคู่แข่งของเทสโก้ โลตัส และเซเว่น อีเลฟเว่น
 

2) ผู้ขออนุญาตอาจกีดกันการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของคู่แข่งของซีพีเอฟและออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์
 

กล่าวคือ ภายหลังการรวมธุรกิจ เซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส อาจซื้อสินค้าจากซีพีเอฟ หรือใช้บริการงานด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าจาก บริษัท ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์ มากขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม เทสโก้ สโตร์ส ก็มีธุรกิจบริการด้านโลจิส ติกส์และการกระจายสินค้า จึงอาจไม่มีผลกระทบในด้านนี้
 

ดังนั้น ผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน ในตลาดทั้งในส่วนของผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผลกระทบต่อการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากการรวมธุรกิจส่งผล ทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น 
 

มติของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า. ในประเด็นผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน (Coordinated Effect) ประเด็นผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจและผู้บริโภค และประเด็นผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด ว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด จึงเป็นเช่นนี้แล...
 

รอติดตามเรื่องอื่นๆ กันต่ออย่าท้อถอยนะโยม....

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (3)

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (2)

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)